วธ.เตรียมจัดพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน 29 ตุลาคม 2565 ณ วัดยานนาวา กรุงเทพฯ สืบทอดประเพณีสำคัญทางพระพุทธศาสนา พร้อมจัดทำหนังสือศึกษาประวัติวัด ส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยว สร้างรายได้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน

 

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า การทอดกฐิน เป็นประเพณีสำคัญทางศาสนาที่พุทธศาสนิกชนถือปฏิบัติและสืบทอดมายาวนาน ช่วงเวลาในการทอดกฐินกำหนดระยะเวลา 1 เดือน หลังวันออกพรรษา ระหว่างวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปี ถือเป็นการทำนุบำรุงสืบทอดพระพุทธศาสนา และบำเพ็ญกุศลอันยิ่งใหญ่ ก่อให้เกิดอานิสงส์ทั้งพระสงฆ์และฆราวาส สำหรับกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ในช่วงกฐินกาล พุทธศักราช 2565 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานผ้าพระกฐินให้ วธ. ตามที่ขอพระราชทาน เพื่อน้อมนำไปถวายพระสงฆ์จำพรรษา ณ วัดยานนาวา แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 29 ตุลาคม 2565  นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ โอกาสนี้ วธ. ได้จัดพิมพ์หนังสือ “ปกิณกวัฒนธรรม วัดยานนาวา และแหล่งเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรมบริเวณใกล้เคียง” เพื่อเผยแพร่ประวัติวัด สถานที่สำคัญและชุมชนบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร แก่นักเรียน นักศึกษา ประชาชน ผู้สนใจด้านประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนสามารถนำไปต่อยอดความรู้ให้กว้างขวางต่อไป 


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า หนังสือ “ปกิณกวัฒนธรรม วัดยานนาวา และแหล่งเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรมบริเวณใกล้เคียง” ได้บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของ วัดยานนาวา เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา มีชื่อแรกว่า “วัดคอกควาย” ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดยานนาวา” และใช้เรียกมาจนถึงปัจจุบัน มีความหมายว่า “วัดอันมีพาหนะดุจสำเภาในการที่จะนำพาเวไนยสัตว์ให้ข้ามพ้นโอฆะสงสาร” ได้รับการสถาปนาเป็นพระอารามหลวง ในสมัยธนบุรี และสืบเนื่องมาจนสมัยรัตนโกสินทร์ ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธาน 4 องค์ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิและพระพุทธรูปปางมารวิชัย รวมทั้งมีภาพจิตรกรรมบนบานประตูด้วยลวดลายที่สวยงาม พระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชวงศ์จักรีทุกพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์ มีพระราชศรัทธาทำนุบำรุงอาราม และทรงบำเพ็ญพระราชกุศล 


รมว.วธ. กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ วัดยานนาวา ยังมีแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมบริเวณ ที่มีความสำคัญและน่าสนใจ สะท้อนวิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจ การค้า ตลอดจนความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ได้แก่ ถนนเจริญกรุง , สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช , อาสนวิหารอัสสัมชัญ , โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล , ศุลกสถาน , อาคารไปรษณีย์กลางบางรัก , บ้านเลขที่ 1 เจริญกรุง , บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด (บางกอกด๊อก) , องค์การสะพานปลา , เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ ฟรอนท์ , หอการค้าไทย – จีน , สวนสุขภาพสมาคมแต้จิ๋ว (สุสานวัดดอน) , บ้านหลวงสาทรราชายุกต์ (บ้านสาทร) , ห้องสมุดเนียลสัน เฮย์ส เป็นต้น ถือเป็นการสนับสนุนนโยบายวธ. “เปลี่ยนฉากทัศน์วัฒนธรรม สู่ก้าวที่มั่นคงและยั่งยืน” ขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจด้วยวัฒนธรรม เกิดรายได้ให้แก่ประชาชนและชุมชนอย่างยั่งยืน เสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น

รูปภาพธีมโดย mevans. ขับเคลื่อนโดย Blogger.