ศน. ฝึกเข้มนักสวดพระมหาชาติคำหลวง สืบสานพระศาสนาและรักษามรดกวัฒนธรรมของชาติที่มีหนึ่งเดียวในโลก เนื่องในเทศกาลวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา 2567
พระมหาชาติคำหลวง เป็นวรรณกรรมเกี่ยวกับอดีตพระชาติของพระพุทธเจ้าในชาติที่ 10 คือพระมหาเวสสันดรชาดก เล่าถึงเมื่อครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร ได้บำเพ็ญทานบารมีอันเป็นยอดหลายประการมีการแจกทานเป็นนิจ โดยแบ่งเป็นตอนเป็นหมวดถึง 13 หมวดหรือ 13 กัณฑ์ ตามธรรมเนียมการสวดพระมหาชาติคำหลวงจะสวดทุกวันพระในระหว่างเข้าพรรษา ปัจจุบันคงเหลือแต่สวดเพียงกัณฑ์มหาพนเท่านั้น โดยนักสวดจะเป็นข้าราชการกรมการศาสนาจะแต่งกายด้วยการนุ่งผ้าขาวแบบโจงกระเบนสวมเสื้อเครื่องแบบปกติขาว (ราชปะแตนหรือชุดเครื่องแบบปกติขาว) สวมถุงเท้าสีขาวยาวเสมอเข่า ตั้งเตียงสวดต่อท้ายอาสน์สงฆ์ในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีกระบะบูชาปักธูปเทียน สมุดที่ใช้บันทึกพระมหาชาติคำหลวงเป็นสมุดไทยดำเขียนตัวหนังสือ ด้วยหรดาลและมีเครื่องหมายบอกทำนองสวดกำกับไปทุกวรรค ตัวอย่างเช่น บทว่า คจฺฉนฺโต โส ภารฑฺวาโช ดูกรสงฆ์ อันวาพงษภารทวาช ก็โปโดยมรรคเจตบุตร บอกความฉุดใจตน การออกเสียงสวดคือขัดชัน ฮื้ออื่อ โต่โฮโอ่ โซ้โอโอโอ๊ ผ่าอ่าอ่า ฮะอาอา งาฮะอาฮะอา อาอาอา,อืม์..รัทฮื้ออือ ทะวาอาฮ่าอ่า ฮ้าอาอา อาอาอา, โฉ่โอ่โอ่ โฮะโอโอ, ดูกอระอะ ซ้ง ฮืออึออื่อฮึอืออือ อืออื่อฮืออื่อ ขะ, อันวาพง อื่อ ซะภาหาอ่า, หรัดทะวาอ่า ฮะอะอาด งาอ่าฮาอาด ฉะ,ก่อไปโด..โฮ้โอ่ย, หม่าฮ้าอาอาอากขะ, เจเอ๊ต ตะบุตตร๊ะอะ อืม์. บ๊อก ควาอาอ่า ห่าอาอ๊าม,ชุดใจ่ต๊น อืออือ อื่อฮืออื่อ
อธิบดีกรมการศาสนา (ศน.) กล่าวต่อว่า ในปีนี้ การสวดพระมหาชาติคำหลวง มีกำหนดการ ดังนี้ เทศกาลเข้าพรรษา ตรงกับวันที่ 19 - 21 กรกฎาคม 2567 กลางพรรษา ตรงกับวันที่ 1-3 กันยายน 2567 และออกพรรษา ตรงกับวันที่ 16 – 18 ตุลาคม 2567 ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดารามในพระบรมมหาราชวัง โดยมีนักสวดพระมหาชาติคำหลวง 4 คน ได้แก่ นายปิยวัฒน์ วงษ์เจริญ นักวิชาการศาสนาชำนาญการพิเศษนายเฉลิมชัย ดงจันทร์ นักวิชาการศาสนาชำนาญการพิเศษ นายทินวุฒิ บัวรอด นักวิชาการศาสนพิธี และนายณัฐพล เกิดเอี่ยม นักวิชาการศาสนพิธี ซึ่งนักสวด 4 คนนี้ เป็นผู้สวดที่คล่องแคล่วและแม่นยำในอักขระ เพราะต้องสวดเบื้องหน้าพระพักตร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้ ยังมีการสวดพระมหาชาติคำหลวงในงานพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ซึ่งจะมีนักสวดพระมหาชาติคำหลวงสวดในเวลาอื่นๆ สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป
อธิบดีกรมการศาสนา (ศน.) กล่าวทิ้งท้าย นักสวดพระมหาชาติคำหลวง ต้องใช้เวลาฝึกฝนอย่างหนัก ต้องฝึกสอนกันแบบวรรคต่อวรรค คำต่อคำ เนื่องจากในการสวดพระมหาชาติคำหลวงมีการออกเสียงที่ยาก บางคำเขียนเหมือนกันแต่ออกเสียงไม่เหมือนกัน การออกเสียงทั้งเสียงสูง เสียงกลาง เสียงต่ำ เสียงสั้น เสียงยาว หลังการฝึกหัดนักสวดพระมหาชาติคำหลวงแล้ว จะมีการคัดเลือกหลังจากฝึกหัดนักสวดพระมหาชาติคำหลวง โดยนำบุคคลที่ผ่านการฝึกหัดการสวดพระมหาชาติคำหลวงและสามารถสวดได้อย่างถูกต้อง มาฝึกซ้อมการสวดร่วมกัน ครั้งละ 4 คน จำเป็นต้องหากลุ่มบุคคลที่เสียงมีความเข้ากันได้ประสานเสียงจนเกิดความไพเราะ และพร้อมจะเป็นทีมเดียวกัน เนื่องจากกว่าจะฝึกจนสวดได้คล่อง 1 บท อาจต้องใช้เวลาถึง 1 ปีเลยทีเดียว อีกทั้งการสวด ผู้สวดต้องมีความชำนาญในการสวด ให้ถูกต้องตามโบราณราชประเพณี ทั้งยังเป็นการอนุรักษ์และสืบทอดการสวดพระมหาชาติคำหลวงที่ถูกต้องให้คงอยู่เป็นเอกลักษณ์และมรดกทางวัฒนธรรมของชาติไทยสืบไป
////
ไม่มีความคิดเห็น