แบดโลก รับรอง ‘คุณหญิงปัทมา’ นั่งรองประธานฯ ระบบนับคะแนนยังคงเดิม-ข้อเสนอใหม่รอทดสอบ


       ที่ประชุมใหญ่สหพันธ์แบดมินตันโลก ครั้งที่ 82 ซึ่งมีสมาชิก 205 ชาติ ร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์ ให้การรับรอง คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล นั่งเป็นรองประธานสหพันธ์ฯ อย่างเป็นทางการ ส่วนระบบคิดคะแนนแบดมินตัน ยังคงเดิม คือ 21 คะแนน ชนะ 2 ใน 3 เกม หลังข้อเสนอใหม่ 11 คะแนน ชนะ 3 ใน 5 เกม ยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม ต้องไปทดสอบ และฟังความเห็นจากทุกฝ่าย อีกครั้ง


การประชุมใหญ่ สามัญประจำปี ของสหพันธ์แบดมินตันโลก ครั้งที่ 82 ซึ่งมีสมาชิก 205 ชาติ ร่วมการประชุมผ่านระบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา วาระสำคัญ คือ การเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารของสหพันธ์ฯ ปี 2021-2025 โดยในส่วนของ 3 ตำแหน่งใหญ่ ที่มีผู้สมัครในแต่ละตำแหน่งเพียงคนเดียวนั้น ที่ประชุมให้การรับรองอย่างเป็นทางการ ให้ พอล อิริค โฮเยอร์ จากเดนมาร์ก เป็นประธานสหพันธ์ฯ ต่ออีกสมัย คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล จากไทย เป็นรองประธานสหพันธ์ฯ และ พอล คูร์โซ จากสวิตเซอร์แลนด์ เป็นรองประธานด้านพาราแบดมินตัน


     ส่วนการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารในปีนี้ เป็นปีแรกที่ใช้โควต้าทวีปและเพศ มาพิจารณา โดยเป็นการกำหนดโควต้า ให้มีสัดส่วนตัวแทนแต่ละทวีป ที่เหมาะสมในคณะกรรมการ โดยทวีปที่แบดมินตัน เป็นที่นิยมและมีนักกีฬาในระดับโลกหลายคน ก็จะได้โควต้าที่นั่งในคณะกรรมการมากกว่าทวีปอื่น และการกำหนดโควต้าตามเพศ เป็นการดำเนินการตามจุดมุ่งหมายของสหพันธ์ฯ เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ โดยกำหนดให้มีสัดส่วนจำนวนสมาชิกของเพศที่น้อยกว่าอย่างน้อย 30 เปอร์เซ็นต์ในคณะกรรมการ


     ทั้งนี้ จากผู้สมัครเข้าทั้งหมด 31 คน คัดเลือกเข้าไปทำหน้าที่ 20 คน ซึ่งผลการลงคะแนนเลือกตั้ง มีดังนี้ จากทวีปเอเชีย 8 คน ได้แก่ 1. จาง จุน จากจีน 2. แบงบัง โรดียันโต้ จากอินโดนีเซีย 3. ฮามินตา บิสวา ซาร์มา จากอินเดีย 4. จุง ซู คิม จากเกาหลีใต้ 5. เคนนี โกะ จากมาเลเซีย 6. คินจิ เซนิยา จากญี่ปุ่น 7. รูซโชนา นาร์ซูลลีวา (เพศหญิง) จากทาจิกิซสถาน  8. ซอว์ซาน ฮาจี โมฮัมเหม็ด ทากาวี (เพศหญิง) จากบาห์เรน

     จากทวีปยุโรป 7 คน ได้แก่ 1. นอร่า เพอรี่ (เพศหญิง) จากอังกฤษ 2. แอมมา เพนีโลเป เมสัน (เพศหญิง) จากสก๊อตแลนด์ 3. เดวิด กาเบลโย จากสเปน 4. อัลลา เดล (เพศหญิง) จากรัสเซีย 5. เอเตียง โทบัว จากฝรั่งเศส  6. ร็อบเบิร์ต เดอ ค็อก จากสวิตเซอร์แลนด์ 7. สเวน เซอร์รี จากเบลเยี่ยม, จากทวีปอเมริกา 2 คน ได้แก่  1. พิลาร์ คาริโอ ลา ฟูนตา (เพศหญิง) จากเปรู 2. โฮเซ กาเบรียล เดล บุสโต เฟอร์นานเดซ จากกัวเตมาลา, จากทวีปแอฟริกา 2 คน ได้แก่ 1. โอแดต อัสเซมบี แองโกโล จากแคเมอรูน 2. ชิโป ซุมบูรานี จากซิมบับเว และโซนโอเชียเนีย 1คน ได้แก่ 1. ไนเจล สเกลท์ จากนิวซีแลนด์

คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล กรรมการคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซีเมมเบอร์) รองประธานสหพันธ์แบดมินตันโลก และนายกสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า ส่วนวาระการเสนอให้มีระบบนับคะแนนใหม่ คือ 11 คะแนน ชนะ 3 ใน 5 เกม ซึ่งระบบคะแนนใหม่นี้ เคยถูกนำเสนอในที่ประชุมใหญ่สามัญ เมื่อปี 2018 ที่กรุงเทพฯ มาแล้วครั้งหนึ่ง สำหรับในครั้งนี้ สมาคมแบดมินตันอินโดนีเซีย และสมาคมแบดมินตันมัลดีฟ ได้นำเรื่องนี้กลับมาเสนอต่อที่ประชุมอีกรอบ แต่ปรากฎว่า ยังไม่ผ่านการพิจารณาจากที่ประชุม เพราะได้คะแนนเสียงไม่ถึง 2 ใน 3 ทำให้ยังต้องใช้ระบบคิดคะแนนแบบเดิม คือ 21 คะแนน ชนะ 2 ใน 3 เกม ต่อไป

“ส่วนเหตุผลที่ประเทศมหาอำนาจแบดมินตันหลายประเทศไม่โหวตให้ผ่านในครั้งนี้ เพราะต้องการทดลองเล่นระบบนี้ในทุกระดับของการแข่งขันก่อน เพื่อดูผลที่ได้รับ และความเห็นจากบรรดานักกีฬา และผู้ฝึกสอนทั่วโลก ว่าเป็นอย่างไร รวมถึงต้องรอประเมินด้วยว่า ระบบใหม่นี้ สามารถทำการตลาดได้ดีเพียงใด ขณะเดียวกัน ผู้ชม และบรรดาผู้สนับสนุน จะให้ความสนใจมากน้อยแค่ไหน” คุณหญิงปัทมา กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น

รูปภาพธีมโดย mevans. ขับเคลื่อนโดย Blogger.