“รมว.ปุ๋ง” นำทีมให้กำลังใจ - สนับสนุน 200 ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชนไทยงาน“มหกรรมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่สากลและการเจรจาธุรกิจ” ปลื้ม 2 วัน คนไทยร่วมอุดหนุน

 ผลิตภัณฑ์ - ผลงานสร้างสรรค์ต่อยอดจากทุนทางวัฒนธรรม อัตลักษณ์ท้องถิ่น เผยเกิดการเจรจาจับคู่ธุรกิจ 79 คู่ เดินหน้าหนุนผู้ประกอบการขยายตลาด - สร้างโอกาสดันผลิตภัณฑ์ไทยสู่ตลาดในประเทศ - ต่างประเทศ

วันที่ 20 เมษายน 2568 นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วย นางสาวพลอย ธนิกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม นางสาวสกาวใจ พูนสวัสดิ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และคณะผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม เยี่ยมชมงานมหกรรมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่สากลและการเจรจาธุรกิจ” ณ พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน ซึ่ง วธ. ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สมาคมการค้าส่งเสริมหัตถกรรมไทย ภาคเอกชนและภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนนโยบาย 1 ครอบครัว 1 Soft Power ผ่าน 11 กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาศักยภาพคนไทยให้เป็นแรงงานทักษะสูง เกิดการจ้างงานด้านศิลปวัฒนธรรมและสร้างรายได้ในกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 4 ด้าน ได้แก่ ด้านอาหาร ศิลปะ ท่องเที่ยว และดนตรี และส่งเสริม Soft Power ของประเทศ มุ่งเน้นให้เกิดคู่ค้าและเป็นเวทีการเจรจาธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการกับผู้ซื้อ และจัดแสดงผลงานสร้างสรรค์จากทุนทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ท้องถิ่นเพื่อเป็นช่องทางและโอกาสให้ผู้ประกอบการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจการค้า ขยายตลาดสินค้าและบริการไปสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 - 22 เมษายน 2568 ณ พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน 



รมว.วธ. กล่าวว่า วันนี้มาเยี่ยมชมให้กำลังใจและสนับสนุนผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชนไทยเป็นที่น่าชื่นชมอย่างมาก เพราะผู้ประกอบการที่นำผลิตภัณฑ์และบริการมาจัดแสดงเป็นผลงานการสร้างสรรค์จากทุนทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ท้องถิ่นที่โดดเด่น ที่สำคัญผลิตภัณฑ์และบริการที่ได้รับคัดเลือกมาจัดแสดงมีเอกลักษณ์และสวยงาม เชื่อว่าจะสามารถนำไปต่อยอดทำการตลาดและนำไปจำหน่ายได้ตลาดทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศได้เพราะเป็นผลิตภัณฑ์จากชุมชนที่มีความหลากหลายทั้งงานฝีมือ สินค้าของที่ระลึก ผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยว ดนตรี ซึ่งล้านเป็นผลงานงานสร้างสรรค์จากผู้ประกอบการไทย 200 ราย ทั้งนี้ ได้รับรายงานผลการดำเนินงานช่วง 2 วันที่ผ่านมา (18-19 เมษายน 2568) เกิดจากการเจรจาจับคู่ธุรกิจ 79 คู่ 



“เชิญชวนคนไทยมาชมงานและร่วมกันสนับสนุนผู้ประกอบการเพื่อร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันผลิตภัณฑ์และผลงานสร้างสรรค์ที่นำทุนทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ท้องถิ่นตลอดจนมรดกภูมิปัญญามาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์และบริการที่สามารถจำหน่ายและสร้างรายได้และเป็นเอกลักษณ์สวยงาม ที่สำคัญช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับชุมชน”รมว.วธ. กล่าว

 



อย่างไรก็ตาม วธ.และภาคคีเครือข่าย ยังคงมุ่งขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจใหม่ผลักดัน "Soft Power" โดยใช้มิติด้านวัฒนธรรมอัตลักษณ์ความเป็นไทย เป็นเครื่องมือสนับสนุนการเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าและบริการของไทย และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันและส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศในเวทีโลก เนื่องจากข้อมูลจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าประเทศไทยในปี 2566 มีจำนวนครอบครัวถึง 22 ล้านครอบครัว ซึ่งรัฐบาลให้การสนับสนุนการพัฒนาแรงงานทักษะสูงกำหนดให้อย่างน้อย 1 คนต่อครอบครัวได้มีโอกาสฝึกฝนทักษะทั้งการ Upskill (การพัฒนาทักษะเดิม) และReskill (การเพิ่มหรือฝึกฝนทักษะใหม่) เพื่อให้ทุกคนได้เป็นทรัพยากรที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น วธ.จำเป็นต้องเร่งขับเคลื่อนงานด้านวัฒนธรรมโดยใช้วัฒนธรรมนำเศรษฐกิจ ส่งเสริมการนำวัฒนธรรมมาสร้างเศรษฐกิจด้วยการพัฒนาศักยภาพผลิตภัณฑ์ชุมชนสู่อุตสาหกรรมวัฒนธรรมและขยายตลาดสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เป็นสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมและทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้ชุมชนและผู้ประกอบการมีโอกาสพัฒนาศักยภาพของตนเอง โดยใช้สิ่งที่มีอยู่รอบๆ ตัวในท้องถิ่นมาสร้างคุณค่าและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจเกิดความเข้มแข็งสามารถสร้างรายได้และพึ่งพาตนเองได้


ไม่มีความคิดเห็น

รูปภาพธีมโดย mevans. ขับเคลื่อนโดย Blogger.