เครือข่าย Food Waste Platform* วช. คพ. และ Dow จับมือ 29 หน่วยงาน สร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ FoodWasteHub.com
วันที่ 24 เมษายน 2568 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วย กรมควบคุมมลพิษ(คพ.) และกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) จัดการแถลงข่าวความร่วมมือการจัดการขยะอาหาร ด้วยแฟลตฟอร์มออนไลน์บนเว็บไซต์ FoodWasteHub.com ผนึกเครือข่ายพันธมิตรภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา รวม 29 หน่วยงาน เผยแพร่ความรู้และแนวทางการจัดการด้านขยะอาหาร โดยมี นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธานในพิธี ซึ่งมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ, นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ, นายเอกสิทธิ์ ลัคนานิธิพันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายธุรกิจร่วมทุน กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย และ ศ. ดร.สนิท อักษรแก้ว ที่ปรึกษาในสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมในงานแถลงความร่วมมือฯ ณ ห้องประชุมศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช กรมควบคุมมลพิษ
นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัญหาขยะอาหารมิได้เป็นเพียงประเด็นด้านของเสีย หากแต่สะท้อนถึงการสูญเสียทรัพยากรที่มีคุณค่า ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนโอกาสในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทย ความร่วมมือในครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการบูรณาการองค์ความรู้ งานวิจัย และแนวทางปฏิบัติที่สามารถนำไปใช้ได้จริงในภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน การลดของเสีย และการสร้างสังคมที่ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ทั้งนี้เชื่อว่า Food Waste Platform จะมีบทบาทเป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมให้ประเทศไทยสามารถเปลี่ยนแปลงขยะอาหารจากภาระให้กลายเป็นโอกาสในการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า งานวิจัยเป็นกุญแจ สำคัญในการแก้ปัญหาขยะอาหารอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน วช. มุ่งสนับสนุนการพัฒนาความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ได้จริง ทั้งในเชิงนโยบายและการปฏิบัติ การจัดการขยะอาหารต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และแพลตฟอร์มนี้เป็นตัวอย่างของการบูรณาการข้อมูล งานวิจัย และแนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้สาธารณชนสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการลดขยะอาหาร และเพิ่มมูลค่าให้กับทรัพยากรอาหารของประเทศ งานวิจัยมุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน
ด้าน นางสาวปรียาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ปัญหาขยะอาหารเป็นความ ท้าทายสำคัญที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน กรมควบคุมมลพิษจึงมุ่งเน้นการผลักดัน แนวทางการจัดการขยะอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่การป้องกันและลดปริมาณขยะจากต้นทาง การนำกลับมาใช้ประโยชน์ ตลอดจนถึงการกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ความรู้และข้อมูลที่ถูกต้องเป็นรากฐานสำคัญของการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนางานวิจัย ฐานข้อมูล และแนวทาง ปฏิบัติที่สามารถนำไปใช้ได้จริง เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถนำไปปรับใช้และช่วยกันลดปริมาณขยะอาหาร ของประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม
นายเอกสิทธิ์ ลัคนานิธิพันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายธุรกิจร่วมทุน กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า กลุ่มบริษัท ดาว มีเป้าหมายด้านความยั่งยืนในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การเปลี่ยนของเสียให้เป็นผลิตภัณฑ์ และการส่งเสริมระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนผ่านการรีไซเคิล ดังนั้น บริษัทฯ จึงให้การสนับสนุนการพัฒนาเว็บไซต์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลและนวัตกรรมด้านการจัดการขยะอาหาร ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อน อีกทั้งยังก่อให้เกิดประโยชน์ทางอ้อมต่อกระบวนการรีไซเคิล เนื่องจากเมื่อมีการแยกขยะอาหารเพื่อนำไปใช้ประโยชน์โดยเฉพาะ จะช่วยลดการปนเปื้อนระหว่างเศษอาหารกับวัสดุรีไซเคิล ทำให้กระบวนการรีไซเคิลมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานพันธมิตรเพิ่มมากขึ้น และหวังว่าเว็บไซต์ดังกล่าวจะสามารถเป็นแหล่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนในวงกว้าง
ศ.ดร.สนิท อักษรแก้ว ที่ปรึกษาในสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า การจัดการขยะอาหารอย่างมีประสิทธิภาพถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนและแนวทาง BCG ซึ่งมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า การสร้างมูลค่าเพิ่ม และการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยแพลตฟอร์มดังกล่าวจะเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญ ซึ่งสามารถสนับสนุนภาคธุรกิจในการนำข้อมูลและงานวิจัยไปต่อยอดเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ เช่น การแปรรูปขยะอาหารให้เป็นพลังงานทางเลือกหรือผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง ตลอดจนเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายที่ขับเคลื่อนประเทศไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืน ลดความสูญเปล่า และสร้างความมั่นคงด้านอาหารในระยะยาว
ทั้งนี้ แพลตฟอร์มการเผยแพร่นวัตกรรมการจัดการขยะอาหาร หรือ Food Waste Platform เป็นศูนย์กลางให้ความรู้และแนวทางการจัดการขยะอาหารอย่างยั่งยืนโดยมีข้อมูลทั้งภาษาไทยและอังกฤษ มีผู้เข้าชมแล้วกว่า 24,000 ครั้ง จากทั้งคนไทยและต่างชาติจากกว่า 10 ประเทศ โดยเครือข่ายแพลตฟอร์มเผยแพร่นวัตกรรมการจัดการขยะอาหาร ประกอบด้วยหน่วยงานและองค์กรจำนวน 29 หน่วยงาน ได้แก่ 1) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ 2) กรมควบคุมมลพิษ 3) กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) 4) บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด 5) บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) 6) บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) 7) การไฟฟ้านครหลวง 8) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 9)ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ 10) บริษัท บุณยาพาณิชย์ จำกัด 11) สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย 12) มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 13) มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี 14) มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ 15) มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ 16) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 17) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 18) คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 19) คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 20) คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยพะเยา 21) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 22) คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 23) คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 24) คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 25) สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 26) สำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 27) สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 28) สำนักวิจัยและบริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวท.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 29) สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ
Food Waste Platform มีเป้าหมายเพื่อเผยแพร่ความรู้และแนวทางการจัดการด้านขยะอาหาร โดยงานวิจัยฝีมือคนไทยและกรณีศึกษาเพื่อการนำขยะอาหารกลับมาใช้ประโยชน์เพื่อสนับสนุนหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนและนโยบาย BCG อย่างเป็นระบบ
สอดคล้องกับแผนการจัดการขยะอาหารของประเทศไทย (พ.ศ.2566-2573) และแผนปฏิบัติด้านการจัดการขยะอาหาร ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566-2570) ด้วยแนวทางการจัดการที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง หวังลดปริมาณขยะที่ต้องนำไปกำจัด ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการกำจัดขยะ และเพิ่มอัตราการรีไซเคิลของประเทศ
ไม่มีความคิดเห็น