อว. นำคณะนักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยคว้ารางวัลระดับนานาชาติ จากงาน “The 50th International Exhibition of Inventions Geneva” ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส


นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำนักประดิษฐ์นักวิจัยไทย คว้ารางวัลจากการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์ ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ในงาน “The 50th International Exhibition of Inventions Geneva” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 9 – 13 เมษายน 2568 พร้อมกล่าวแสดงความยินดีแก่นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทย ที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ และมอบรางวัลแก่ผลงานที่มีความโดดเด่น โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วย ผู้บริหารของกระทรวง อว. ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิ นักประดิษฐ์ และนักวิจัย เข้าร่วมในพิธี โดยในปี 2568 นี้ มีนักประดิษฐ์กว่า 40 ประเทศ นำผลงานเข้าประกวดและจัดแสดงกว่า 1,000 ผลงาน ที่เข้าร่วมการประกวด ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส


นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว. กล่าวแสดงความยินดีแก่นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทย ที่ได้รับรางวัลในการประกวดครั้งนี้  พร้อมทั้งกล่าวว่า กระทรวง อว. ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนประเทศด้วยการพัฒนาศักยภาพของคนในมิติต่าง ๆ โดยมุ่งหวังที่จะให้บุคลากรที่มีศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการสร้างโอกาสและยกระดับขีดความสามารถของประเทศไทยด้าน ววน. ในเวทีโลก และขอขอบคุณ วช. ที่ได้มีกลไกความร่วมมือกับองค์กรด้านการประดิษฐ์ระดับสากล ในการคัดเลือกผลงานจากนักประดิษฐ์ไทยในการเข้าสู่เวทีการประกวดในระดับนานาชาติมาอย่างต่อเนื่อง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่านักประดิษฐ์จากทุกภาคส่วนทั้งสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และรัฐวิสาหกิจ จะได้ใช้โอกาสจากการประกวดแข่งขันนี้ในการสร้างมาตรฐาน สร้างเครือข่ายการทำงาน และยกระดับศักยภาพผลงานของไทย เพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมไทยให้เป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้นในอนาคต


ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า จากนโยบายของกระทรวง อว. โดย วช. ได้รับมอบหมายในการทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางของประเทศไทย ในการนำผลงานของนักประดิษฐ์ไทยเข้าสู่เวทีการประกวดแข่งขันและจัดแสดงในเวทีระดับนานาชาติงาน International Exhibition of Inventions Geneva และในการจัดกิจกรรมครั้งที่ 50 นี้ นับเป็นอีกโอกาสสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนนักประดิษฐ์และนักวิจัยไทย สามารถแสดงสมรรถนะและขีดความสามารถในการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ที่มีคุณภาพและศักยภาพในระดับสากล ตลอดจนสร้างโอกาสในการต่อยอดผลงานสู่เชิงพาณิชย์และการใช้ประโยชน์ในวงกว้าง ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ


โดยในปีนี้ วช. ได้สนับสนุนหน่วยงานเครือข่าย ด้านสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน เข้าร่วมงาน ซึ่งได้รับการตอบรับจากทัพนักประดิษฐ์ของไทยมากกว่า 300 คน เข้าร่วมงาน ในโอกาสนี้ 




นักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยได้เข้าร่วมการประกวดและจัดแสดงผลงานในเวทีนานาชาติอันทรงเกียรติอย่าง “The 50th International Exhibition of Inventions Geneva”


ซึ่งผลงานของนักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยได้สร้างความประทับใจและคว้ารางวัลเหรียญทอง รวมถึงรางวัลพิเศษอันทรงเกียรติมาครองได้สำเร็จ ดังนี้ 

- รางวัลเหรียญทองเกียรติยศ (Gold Medal with Congratulations of Jury) และรางวัลเหรียญทอง รวมจำนวน 25 ผลงาน

- พร้อมรางวัลเหรียญเงิน (Silver Medal) และรางวัลเหรียญทองแดง (Bronze Medal) อีกเป็นจำนวนมาก


ผลงานที่ได้รับรางวัลเหรียญทองเกียรติยศ (Gold Medal with Congratulations of Jury) และเหรียญทอง ได้แก่ 

1. ผลงานเรื่อง นวัตกรรมใยอาหารสำเร็จรูปนวัตกรรมใหม่จากใบไผ่กระเจี๊ยบแดงและหล่อฮังก้วย โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปาริยา ณ นคร และคณะ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

2. ผลงานเรื่อง นวัตกรรมโพรไบโอติกสายพันธุ์ไทยเพื่อป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โดย รองศาสตราจารย์ ดร.มาลัย ทวีโชติภัทร์ และคณะ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

3. ผลงานเรื่อง ชุดตรวจคัดกรองโรคทางเดินหายใจอัจฉริยะแบบพกพาด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ พร้อมระบบให้คำแนะนำสุขภาพหลายภาษาสำหรับการแพทย์ทางไกลส่วนบุคคล โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดิเรก เสือสีนาค และคณะ  จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

4. ผลงานเรื่อง การผสมผสานโลหะวิทยาขั้นสูงและงานหัตถศิลป์: นวัตกรรมที่เชื่อมโยงมรดกวัฒนธรรมสู่ความยั่งยืนในธุรกิจเครื่องประดับ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ขจีพร วงศ์ปรีดี และคณะ  จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

5. ผลงานเรื่อง อุปกรณ์รัดยางริดสีดวงแบบใหม่ โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ จุมพล วิลาศรัศมี และคณะ จากมหาวิทยาลัยมหิดล

6. ผลงานเรื่อง เครื่องตรวจการรับรู้ความรู้สึกปลายประสาทโดยใช้เส้นใยโมโนฟิลาเมนต์ เพื่อการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ จุมพล วิลาศรัศมี และคณะ จากมหาวิทยาลัยมหิดล

7. ผลงานเรื่อง เครื่องดื่มน้ำผลไม้รวมเสริมไลโคปีนเบตากลูแคน โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิตินาถ สุคนเขตร์ และคณะ จากมหาวิทยาลัยสวนดุสิต

8. ผลงานเรื่อง เครื่องดื่มให้พลังงานโอลิโกแซคคาไรด์จากข้าวสำหรับนักกีฬาทนทาน โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุคันธา โอศิริพันธุ์ และคณะ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

9. ผลงานเรื่อง ผ้าซัพพอร์ตเข่าและข้อต่อจากเส้นใยกล้วย โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชนากานต์ เรืองณรงค์ และคณะ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

10. ผลงานเรื่อง ไอเซดาร์ โบนเอ็กซ์: ระบบความร่วมมือทางการแพทย์แบบหลายชั้นบนคลาวด์ร่วมกับปัญญาประดิษฐ์เพื่อสนับสนุนแพทย์มือใหม่ในการวินิจฉัยกระดูกสะโพกหักในห้องฉุกเฉินในพื้นที่ชนบท โดย ดร.ทศพร เฟื่องรอด และคณะ จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

11. ผลงานเรื่อง นูโมน่า™ การปรับปรุงเซลล์ขั้นสูงเพื่อการฟื้นฟูและคืนความอ่อนเยาว์ โดย นางสาวดวงศิริ หลายกิจรุ่ง และคณะ จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

12. ผลงานเรื่อง เครื่องมือปลด-เชื่อม PG Clamp โดยวิธีไม่ดับกระแสไฟฟ้า โดย นายพิทักษ์ สุนันต๊ะ และคณะ จากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

13. ผลงานเรื่อง เสาไฟฟ้าคอนกรีตอัดแรงแบบมีการเสริมแรง โดย นายไอศูรย์ เพชรวงษ์สกุล และคณะ จากการไฟฟ้านครหลวง

14. ผลงานเรื่อง เอ็มดีคอนท์: นวัตกรรมน้ำยาฆ่าเชื้อระดับสูง ด้วยอนุภาคเงินนาโนชีวสังเคราะห์จากกระชายขาว สำหรับอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล และคณะ จากสมาคมวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย

15. ผลงานเรื่อง โปรทริว่า แบล็คซีดส์ น้ำมันงาดำสกัดเย็น เซซามินมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ โดย นายอนัส ประทีปสุวรรณ บริษัท นิวทริชั่น ไซเอนซ์ แลบบอราทอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด

16. ผลงานเรื่อง บูสตาร์ เบอร์รี่ แมกซ์ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร บุญยืน และคณะ บริษัท 7 ดราก้อน อินโนเวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด

17. ผลงานเรื่อง AERA: นวัตกรรมเสริมสร้างความแข็งแรงของปอด สำหรับผู้สูงอายุและผู้มีอาการทางระบบหายใจ โดยเทคนิคการหายใจแบบ 4-7-8 โดย นายกฤตพล กีรติเรืองรอง และคณะ จากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย

18. ผลงานเรื่อง IKTO : นวัตกรรมกระเบื้องมวลเบาซูเปอร์ไฮโดรโฟบิกรักษ์โลกประสิทธิภาพสูงสำหรับปูพื้นห้องน้ำเพื่อลดโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุลื่นล้ม โดย นายวุฒิภัทร ดิเรกรุ่งเรือง และคณะ จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย ปทุมธานี

19. ผลงานเรื่อง กระบวนการผลิตโกโก้เพื่อเพิ่มมูลค่าโกโก้ไทยและการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ โดย รองศาสตราจารย์ ดร. ดุสิต อธินุวัฒน์ และคณะ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

20. ผลงานเรื่อง เครื่องดื่มโพรไบโอติกส์จากผงมะพร้าวเสริมไฟเบอร์ โดย ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ ดร. โกสุม จันทร์ศิริ และคณะ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

21 ผลงานเรื่อง นาโนสเปรย์จากสารสกัดเปลือกกระเชาเพื่อรักษาโรคเรื้อน การอักเสบ และบาดแผลของสัตว์เลี้ยงและมนุษย์ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. หทัยชนก ปันดิษฐ์ และคณะ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

22. ผลงานเรื่อง สารออกฤทธิ์ทุติยภูมิจากเห็ดหลินจือแดงสำหรับบรรเทาอาการของโรคไต: ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตราเบต้าไลฟ์  โดย นางสาวอุบล ฤกษ์อ่ำและคณะ จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย

23. ผลงานเรื่อง โดรนเพื่อการแสดงพลุไฟ  โดย นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล และคณะ จากสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ

24. ผลงานเรื่อง นวัตกรรมระบบออกซิเดชันขั้นสูงสำหรับฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคแบบในรถพยาบาลแบบอัตโนมัติ โดย นางสาวพรรัตน์ ไชยมงคล และคณะ จากบริษัท คิวจีนิค จำกัด

25. ผลงานเรื่อง กลู-เอ็กซ์ ปุ๋ยน้ำกลูต้าเมต คีเลตเสริมธาตุอาหารสำหรับพืช โดย นายธรณ์ โกศลพัฒนดุรงค์ และคณะ จากบริษัท แอคคอร์ดอินเตอร์เทรด จำกัด


รางวัล Special Prizes on stage จากองค์กรนานาชาติ ดังนี้ 

1.รางวัลจาก Saudi Arabia (Outstanding Innovation Award) ผลงานเรื่อง “ชุดตรวจคัดกรองโรคทางเดินหายใจอัจฉริยะแบบพกพาด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ พร้อมระบบให้คำแนะนำสุขภาพหลายภาษาสำหรับการแพทย์ทางไกลส่วนบุคคล” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดิเรก เสือสีนาค และคณะ จาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

2. รางวัลจาก Hong Kong Delegation (Invention Award) ผลงานเรื่อง “เอ็มดีคอนท์: นวัตกรรมน้ำยาฆ่าเชื้อระดับสูง ด้วยอนุภาคเงินนาโนชีวสังเคราะห์จากกระชายขาว สำหรับอุปกรณ์ทางการแพทย์” โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล และคณะ จากสมาคมวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย

3.รางวัลจาก China Association of Inventions (CAI Award) ผลงานเรื่อง “ไอเซดาร์ โบนเอ็กซ์: ระบบความร่วมมือทางการแพทย์แบบหลายชั้นบนคลาวด์ร่วมกับปัญญาประดิษฐ์เพื่อสนับสนุนแพทย์มือใหม่ในการวินิจฉัยกระดูกสะโพกหักในห้องฉุกเฉินในพื้นที่ชนบท” โดย ดร.ทศพร เฟื่องรอด  และคณะ จาก วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ 


ความสำเร็จของนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและความสามารถอันโดดเด่นของคนไทย ซึ่งผลงานที่ได้รับรางวัลล้วนมีคุณภาพ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้ กระทรวง อว. ยังคงส่งเสริมและสนับสนุนนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนานวัตกรรมและองค์ความรู้ของประเทศต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น

รูปภาพธีมโดย mevans. ขับเคลื่อนโดย Blogger.