ศน. จัดกิจกรรม “ครอบครัวหิ้วตะกร้า ศรัทธาอิ่มบุญ อุดหนุนชุมชน” เปิดจุดเสบียงบุญใส่บาตรสะพานบุญรับอรุณสุโขทัย
สำหรับกิจกรรมใส่บาตรสะพานบุญรับอรุณสุโขทัยที่วัดตระพังทอง เป็นกิจกรรมที่จัดมาต่อเนื่องอย่างยาวนาน ซึ่งทางวัดจะเตรียมพื้นที่และกระจาดไว้ให้กับพุทธศาสนิกชนที่มาใส่บาตรได้วางของใส่บาตร ในทุก ๆ เช้า พระสงฆ์จะออกมารับบิณฑบาตที่สะพานหน้าวัดเรียงแถวอย่างสง่างาม ซึ่งถือเป็นรูปแบบวิถีชีวิตที่บ่งบอกถึงวัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อทางศาสนาที่มีมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี และปัจจุบันนี้เป็นกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวนิยมมาร่วมทำบุญตักบาตร เพื่อให้เกิดสิริมงคลแก่ชีวิต ตามคำว่าสุโขทัย ซึ่งมีความหมายว่า “รุ่งอรุณแห่งความสุข” โดยบริเวณใกล้วัดตระพังทอง จะมีตลาดสดเป็นสถานที่ค้าขายขนมพื้นเมือง อาหารคาวหวาน พวงมาลัยไหว้พระ สำหรับจัดชุดตักบาตร รวมทั้งเสื้อผ้าพื้นเมือง เครื่องประดับ และของที่ระลึก ให้กับพุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยว เป็นการค้าขายในรูปแบบวิถีชีวิตของชาวตำบลเมืองเก่า เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และประวัติศาสตร์รวมทั้งวิถีชีวิตของชุมชนดั้งเดิม มีความหลากหลายทางความเชื่อ และวัฒนธรรมที่สืบต่อกันมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย เป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการท้องถิ่นด้านเศรษฐกิจวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่หลากหลาย กระจายรายได้ให้ประชาชนในชุมชน ส่งผลให้ประเทศไทยมีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
อธิบดีกรมการศาสนา (อศน.) กล่าวต่อว่า กรมการศาสนา ได้ขยายผลสู่ภูมิภาคทั่วประเทศ โดยบูรณาการร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมครอบครัวหิ้วตะกร้า ศรัทธาอิ่มบุญ อุดหนุนชุมชน ส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวทำบุญตักบาตร ไหว้พระ สวดมนต์ ปฏิบัติธรรม ที่วัดและแหล่งศาสนสถานและวัฒนธรรมที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นทางภูมิทัศน์วัฒนธรรม โดยเปิดจุดเช็กอิน 10 เสบียงบุญ ประกอบด้วย 1. ตักบาตรทางเรือ วัดบำเพ็ญเหนือ กรุงเทพมหานคร 2. ตักบาตรริมโขง วัดมหาธาตุ จังหวัดนครพนม 3. ตักบาตรข้าวเหนียว วัดศรีคุนเมือง จังหวัดเลย 4. ตักบาตรหน้าวัด วัดมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช 5. ตักบาตรสะพานบุญรับอรุณ วัดตระพังทอง จังหวัดสุโขทัย 6. ตักบาตรบนเมก วัดเมธังกราวาส จังหวัดแพร่ 7. ตักบาตรหมู่บ้านห้วยน้ำใส สำนักสงฆ์ห้วยน้ำใส จังหวัดราชบุรี 8.ตักบาตรหาบจังหัน วัดหาดสองแคว จังหวัดอุตรดิตถ์ 9.ตักบาตรพระขี่ม้า วัดถ้ำป่าอาชาทอง 10. ตักบาตรสะพานซูตองเป้ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งล้วนเป็นสถานที่ที่สะท้อนความศรัทธาและความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น ส่งเสริมให้ประชาชนสืบสานวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทยในอดีต ด้วยการเข้าวัดในวันธรรมสวนะ และสนับสนุนสินค้าของชุมชนบริเวณรอบวัด สร้างรายได้ให้กับประชาชนในชุมชน ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากจากทุนทางศาสนาและวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน
อธิบดีกรมการศาสนา (อศน.) กล่าวทิ้งท้ายว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนาขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวทุกท่านเข้าร่วมกิจกรรม โดยสามารถเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น ผ่านสถานที่ที่สะท้อนความศรัทธาและความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น นอกจากจะรู้สึกอิ่มบุญแล้ว ยังอิ่มเอมใจที่ได้เที่ยวชมอุดหนุนผู้ประกอบการท้องถิ่น อาทิ ขนม อาหารคาวหวาน เสื้อผ้าพื้นเมือง พวงมาลัยไหว้พระ และของที่ระลึก ที่ให้บริการแก่พุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวได้เข้าวัดทำบุญในวันพระ วันหยุดสุดสัปดาห์ และวันธรรมดาที่เพิ่มมากขึ้น เป็นต้นแบบให้แก่ชุมชนที่มีแหล่งศาสนสถานและวัฒนธรรมที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นทางภูมิทัศน์วัฒนธรรม ขยายผลสู่ภูมิภาคทั่วประเทศ ให้มีการสืบสานการใช้วิถีชีวิตแบบดั้งเดิม อนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น สนับสนุนสินค้าในชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน ////
ไม่มีความคิดเห็น