'มูลนิธิรักษ์ไทย' จับมือภาคีเครือข่ายจัดสัมมนาทำความเข้าใจประมวลกฎหมายยาเสพติด 2564-ลดอันตรายจากสารเสพติด
มูลนิธิรักษ์ไทย ร่วมกับภาคีเครือข่ายโครงการยุติปัญหาวัณโรคและโรคเอดส์ด้วยชุดบริการ RRTTPR 2021-23 ในกลุ่มประชากรผู้ใช้สารเสพติดด้วยวิธีฉีด(PWID) จัดประชุมสัมมนาเนื่องในวันยาเสพติดโลกประจำปี พ.ศ. 2565 เรื่อง "ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 และการลดอันตรายจากสารเสพติด" ที่ห้องวายุภักษ์ 6 ชั้น 5 โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 29-30 มิถุนายน
สืบเนื่องจากวันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี ถือเป็นวันยาเสพติดโลกที่นานาประเทศรวมถึงประเทศไทยได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการรณรงค์ให้ความรู้ สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งเป็นมาตรการหนึ่งที่ทางรัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญมาโดยตลอด โดยการประกาศใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ได้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกี่ยวกับการดำเนินงานทางด้านยาเสพติดในประเทศไทย ตามอำนาจของประมวลกฎหมายได้ระบุให้กระทรวงสาธารณสุข โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้นำในการบำบัดฟื้นฟูผู้ใช้ยาเสพติด รวมถึงหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามบทบาทหน้าที่ที่รับผิดชอบในการดูแลจัดการผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติด ของประเทศ
เริ่มต้นวันแรกเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน นายพร้อมบุญ พานิชภักดิ์ เลขาธิการมูลนิธิรักษ์ไทย กล่าวรายงาน จากนั้นนายแพทย์โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ
กระทรวงสาธารณสุข กล่าวเปิดการประชุมและปาฐกถาพิเศษเรื่อง "ความสำคัญในการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 และการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน"
ต่อด้วยเวทีเสวนา "ทิศทางและการเปลี่ยนแปลงตามบทบาทหน้าที่ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564" ส่วนช่วงบ่าย น.ส.สุภัทรา นาคะผิว บรรยายร่าง พรบ.บำบัดฟื้นฟู คุ้มครองดูแล และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ใช้ยาเสพติด พ.ศ....และการบรรยายพิเศษหัวข้อ "นานาชาติกับทิศทางการแก้ไขปัญหายาเสพติด" จาก Mr. Zin Ko Ko Lynn เจ้าหน้าที่โครงการยา และสุขภาพระดับภูมิภาค สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) และต่อด้วยการแบ่งห้องย่อย โดยห้องที่ 1 การลดอันตรายภายใต้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 โดยนายอุกฤษฎ์ ศรพรหม / ห้องที่ 2 การแก้ไขปัญหาเพื่อลดการตีตราผู้ใช้ยาเสพติดภายใต้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 โดยนายสมชาย หอมละออ นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน / ห้องที่ 3 ภาคประชาสังคมในกลไกการลดอันตรายจากยาเสพติดตามกระบวนการบำบัดฟื้นฟูฯ ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 โดยนายแพทย์ชลอวัฒน์ อินปา ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุข
สำหรับในวันที่ 30 มิถุนายน เริ่มต้นในเวลา 09.30 น. เป็นเวทีเสวนา แนวทางการมีส่วนร่วมเพื่อการขยายผลการดำเนินงานการลดอันตรายโดยภาครัฐ ภาคประชาสังคม และชุมชน โดยมีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย ผศ.ดร.ปรีชญาณ์ นักฟ้อน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร, นายอำนาจ เหล่ากอที ผู้อำนวยการกองกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปรามปรามยาเสพติด, นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดบรมราชนนี, นางสากีนะฮ์ สุวรรณ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา, นายศักดิ์ดา เผือกชาย ประธานเครือข่ายผู้ใช้ยาประเทศไทย (TDN), ซูฮายนงค์ สมาเฮาะ ผู้จัดการกลุ่มคนทำงานผู้ใช้สารเสพติดจังหวัดสงขลา (CTS) จ.สงขลา, นฤมล คะเนรัตน์ ผู้ประสานงานกลุ่มส่งเสริมการเข้าถึงการสนับสนุนด้านสุขภาพ และสังคม (APASS) และศิริวรรณ พันธ์ดี เจ้าหน้าที่อาสาสมัครมูลนิธิรักษ์ไทย
นายแพทย์โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมาได้มีการประกาศราชกิจจานุเบกษา พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2564 ถือเป็น
เรื่องสำคัญต่อการแก้ไขปัญหายาเสพติดของประเทศไทย โดยเฉพาะการดูแลผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติด ได้กำหนดในภาค 2 การบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพทางสังคมแก่ผู้ติดยาเสพติด โดยใช้หลักการ "ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย" นำโดยกระทรวงสาธารณสุขในการให้บริการด้านบำบัด ฟื้นฟู ติดตาม และการให้บริการด้านสุขภาพ รวมถึงการให้บริการการลดอันตรายจากการใช้ยาถูกระบุไว้ในด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามถึงแม้จะมีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 จะไม่เกิดความสำเร็จตามเจตจำนงค์ของการประกาศใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 หากขาดการบูรณาการ การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง รวมถึงการนำวิธีการจัดการรูปแบบใหม่ เช่น การลดอันตรายจากยาเสพติด มาใช้อย่างแท้จริง ตามแนวทางที่รัฐบาลไทยได้แสดงเจตจำนงต่อสาธารณะในเวทีนานาชาติ
ด้านนายพร้อมบุญ พานิชภักดิ์ เลขาธิการมูลนิรักษไทย กล่าวว่า จากรายงานโครงการยุติปัญหาวัณโรค และเอดส์ด้วยชุดบริการ RRTTPR (Stop TB and AIDS through RTTPR year 2021-2023 : STAR 2021-2023) ในกลุ่มประชากรผู้ใช้สารเสพติดด้วยวิธีฉีด (PWID) ด้วยการสนับสนุนของกองทุนโลก (Global Fund) เป็นโครงการที่ดำเนินงานสอดคล้องตามแผนยุทธศาสตร์ว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ. 2560-2573 ว่าด้วยการจัดชุดบริการ (Reach-Recruit-Test-Test-Prevention-Retain เข้าถึง-เข้าสู่บริการ-คัดกรอง-รักษา-ป้องกัน-คงอยู่ในระบบ) โดยใช้แนวทางการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด (Harm Reduction) เพื่อลดอัตราการติดเชื้อเอชไอวี และการเสียชีวิตที่มีสาเหตุจากการใช้สารเสพติดด้วยวิธีฉีด ดำเนินงานโดยองค์กรภาคี 10 องค์กร ที่ทำงานตรงในการเข้าถึง และให้บริการกับผู้ใช้สารเสพติดใน 20 จังหวัดของประเทศไทย และองค์กรที่ให้บริการด้านสุขภาพ รวมถึงองค์กรที่ทำด้านด้านสิทธิมนุษยชน โดยมีเป้าหมายการเข้าถึงผู้ใช้สารเสพติดด้วยวิธีฉีดในปี พ.ศ. 2565 จำนวน 22,350 ราย โดยผลการดำเนิงานระหว่างเดือนมกราคม 2564- มีนาคม 2565 สามารถเข้าถึงผู้ใช้สารเสพติดด้วยวิธีฉีดในพื้นที่ 20 จังหวัดทั้งสิ้น 18,447 คน
ไม่มีความคิดเห็น