ฉลองวันซูชิโลก ด้วยเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับแซลมอนจากนอร์เวย์ วัตถุดิบสุดฮิตที่เป็นจุดเริ่มต้นของซูชิ
หลายคนเข้าใจว่าแซลมอนหน้าซูชิเป็นวัฒนธรรมการกินของคนญี่ปุ่นที่มีมาช้านาน แต่รู้หรือไม่ว่าแท้จริงแล้วต้นกำเนิดของการนำแซลมอนมาทำซูชิมาจากไอเดียของประเทศแห่งอาหารทะเลอย่างนอร์เวย์ เนื่องในวันที่ 18 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันซูชิโลก เราจะมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับที่มาที่ไปของอาหารจานโปรดของใครหลาย ๆ คนกัน
ปลาสีส้ม หรือ แซลมอน เป็นวัตถุดิบยอดฮิตของร้านอาหารญี่ปุ่นทั่วโลกที่หลาย ๆ คนชื่นชอบ เพราะมีรสชาติถูกปากสามารถเข้าได้กับอาหารหลากหลายเมนู จะกินสุกหรือดิบก็อร่อย เหมาะกับการทำซูชิและซาชิมิ ซึ่งประเพณีการกินซูชิของชาวญี่ปุ่นนั้นมีมากว่า 500 ปีแล้ว แต่การนำแซลมอนมาเป็นส่วนหนึ่งของเมนูเพิ่งเกิดขึ้นในช่วงปี 2523 – 2533 นี้เอง จุดเริ่มต้นมาจาก Project Japan ด้วยความต้องการของชาวนอร์เวย์ที่มองหาตลาดใหม่ให้กับแซลมอน เลยตัดสินใจมุ่งหน้าไปยังประเทศญี่ปุ่นเพื่อโน้มน้าวให้เชฟชาวญี่ปุ่นนำแซลมอนมาเป็นส่วนหนึ่งของเมนูซูชิ กลายเป็นการตีตลาดที่ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม ด้วยความพิเศษของเนื้อแซลมอนจากนอร์เวย์ที่มีคุณภาพสูง ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจเวลากินแบบดิบ เชฟเองก็สามารถนำเกือบจะทุกส่วนของแซลมอนมาประกอบอาหารได้ไม่ซ้ำแบบ เรียกได้ว่าผลพวงของ Project Japan ในครั้งนั้น ทำให้แซลมอนไต่อันดับขึ้นไปครองใจผู้คนทั่วโลก และซูชิเองก็เป็นที่นิยมเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน
จากรายงานของสภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ (NSC) ที่ทำการสำรวจกับผู้บริโภคจำนวน 20,000 ราย ในกว่า 20 ประเทศทั่วโลก เมื่อปี 2563 พบว่าแซลมอนเป็นตัวเลือกอันดับหนึ่งในหมวดหมู่ซูชิและอาหารประเภทอื่น ๆ หลายคนเมื่อนึกถึงซูชิก็จะนึกถึงแซลมอนไปพร้อม ๆ กัน ผู้บริโภคกว่า 64% เลือกแซลมอนเป็นหน้าซูชิที่ชื่นชอบมากที่สุด
นอร์เวย์เป็นประเทศแห่งอาหารทะเลที่ส่งออกอาหารทะเลมามากกว่า 1,000 ปี และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากจากการทำฟาร์มแซลมอน ที่ส่งออกไปยังกว่า 100 ประเทศทั่วโลก แซลมอนจากนอร์เวย์ถือสัดส่วนเกินครึ่งของแอตแลนติกแซลมอนในตลาดโลก แซลมอนจากนอร์เวย์มีจุดเด่นที่รสชาติ คุณภาพ ความปลอดภัยด้านอาหาร เทคโนโลยีที่ใช้ในการทำฟาร์ม และการดำเนินธุรกิจด้วยความยั่งยืน ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เหมาะแก่การเติบโตของปลา น้ำทะเลที่เย็นและใสสะอาด และชายฝั่งที่ทอดยาวหลายพันกิโลเมตรของประเทศแห่งอาหารทะเลอย่างนอร์เวย์
ไม่มีความคิดเห็น