ก้าวต่อไปของ ‘คนไร้บ้าน’ พม. - สสส. - จุฬาฯ แถลงผลแจงนับคนไร้บ้านปี 66 เกินครึ่งวัยกลางคน เป็นผู้สูงอายุ 22% กรุงเทพ – ชลบุรี- เชียงใหม่ พบมากสุด สาเหตุหลัก ตกงาน-ปัญหาครอบครัว สานพลัง ภาคีฯ แก้ปัญหาการเข้าถึงสิทธิ-สวัสดิการ ใช้ฐานข้อมูลขับเคลื่อนนโยบายประเทศและพื้นที่ ให้คนไร้บ้านตั้งหลักชีวิตได้
เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2566 ณ อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดย กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่ายคนไร้บ้าน จัดงานมหกรรมด้านการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ปี 2567 แถลงผลข้อมูลสำรวจเชิงลึกสถานการณ์คนไร้บ้าน ปี 2566
นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวง พม. กล่าวว่า ปัญหาคนไร้บ้านเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับทุกสังคมในหลายประเทศทั่วโลก มีปัจจัยที่คล้ายคลึงกัน คือ 1.ปัญหาเชิงปัจเจกระดับบุคคล ภาวะอาการเจ็บป่วย ติดสารเสพติด ความพิการ หรือมีอาการทางจิต 2. ปัญหาเชิงระบบ สถานะทางเศรษฐกิจ ปัญหาครอบครัว การเข้าไม่ถึงสิทธิสวัสดิการ และการถูกผลักออกจากระบบชุมชน
เห็นชัดเจนว่าปัญหาที่ซับซ้อนเหล่านี้ กระทรวง พม. ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เพียงลำพัง ที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนจากองค์กรภาคีเครือข่าย รวมถึงภาคประชาสังคม เข้าร่วมวางแผนแก้ไขปัญหา จนทำให้ทราบว่าไทยมีคนไร้บ้านจำนวน 2,499 คน มีความต้องการหรือประสบปัญหา ที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน ดึงกลุ่มเป้าหมายที่หลุดจากตาข่ายการคุ้มครองทางสังคม ขึ้นมายืนหยัดพึ่งพาตนเอง งานมหกรรมฯ ครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่รวบรวมผลการดำเนินงานด้านการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง แถลงผลการแจงนับฯ ความต้องการ และสภาพปัญหาคนไร้บ้านทั่วประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านกิจกรรมเสวนา “มองวันนี้…ไปข้างหน้า และความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้าน” โดยมี Keynote Speaker ที่ทำงานด้านการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง มาร่วมตกตะกอนทางความคิด วางเป้าหมายขับเคลื่อนงานร่วมกัน
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า การแจงนับคนไร้บ้านทั่วประเทศ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง สสส. กระทรวง พม.
ภาคีเครือข่าย พบคนไร้บ้านจำนวน 2,499 คน ไม่มีงานทำ ถูกไล่ออกจากงาน เป็นสาเหตุหลักของการเป็นคนไร้บ้าน รองลงมาคือ ปัญหาครอบครัว พบมีปัญหาติดสุรา 18.1% ปัญหาสุขภาพจิต 17.9% ผู้สูงอายุไร้บ้านเพิ่มสูงขึ้น 22% (553 คน) ผลการแจงนับสะท้อนข้อมูลสำคัญ เป็นความท้าทายการทำงานในอนาคต เช่น สัดส่วนคนไร้บ้านมีปัญหาด้านสิทธิสถานะ สวัสดิการสูงถึง 30% แต่ผลการแจงนับครั้งนี้พบว่า ภาวะไร้บ้านเป็นเพียงช่วงหนึ่งของชีวิต และมีคนไร้บ้านหน้าใหม่ที่เข้าสู่ภาวะไร้บ้านไม่เกิน 2 ปี 39% ซึ่งงานศึกษาของจุฬาฯ ร่วมกับ สสส. ชี้ให้เห็นว่า หากสนับสนุนคนไร้บ้านได้อย่างเท่าทัน ครอบคลุมทุกมิติ จะช่วยให้ตั้งหลักชีวิตได้รวดเร็ว ไม่เกิดคนไร้บ้านถาวร (permanent homeless)
“สสส. ร่วมกับ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กระทรวง พม. ทำต้นแบบป้องกันการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านถาวร ป้องกันกลุ่มเสี่ยงการเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน ทั้งโครงการ “ที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง” เป็นโครงการนำร่อง ซึ่งสสส. สนับสนุนการเช่าที่อยู่ 60% และคนไร้บ้านสมทบ 60% ต่อเดือน ส่วนเกิน 20 % นำเข้ากองทุนเพื่อช่วยเหลือสวัสดิการคนไร้บ้าน ทำให้คนไร้บ้านกว่า 50 คน มีที่อยู่ มีอาชีพ รายได้มั่นคงขึ้น ตลอดจนพัฒนาระบบศูนย์พักคนไร้บ้าน ที่เน้นกระบวนการจัดการตนเองของคนไร้บ้าน เสริมความเข้มแข็งในมิติทางสังคม และสุขภาพ สสส. ยังทำงานร่วมกับ กรุงเทพมหานคร พม. และเครือข่ายอาสาสมัคร พัฒนาระบบจุดประสานงานคนไร้บ้าน (จุด Drop in) สนับสนุนสวัสดิการ บริการทางสังคม สุขภาพคนไร้บ้าน ลดความเปราะบาง และหนุนเสริมคนไร้บ้านหน้าใหม่ให้เข้าถึงสวัสดิการ ที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมได้” นางภรณี กล่าว
นายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน ผู้จัดการแผนงานพัฒนาองค์ความรู้ฯ คนไร้บ้าน สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ กล่าวว่า “การแถลงผลแจงนับฯ ครั้งนี้ เป็นครั้งที่สองที่มีการแจงนับคนไร้บ้านทั้งประเทศ และเป็นครั้งแรกที่มีการสำรวจข้อมูลเชิงลึกครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ ข้อมูลทางประชากรดังกล่าว จะนำไปออกแบบกระบวนการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้าน และป้องกันการเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน ที่มีความสอดคล้องกับบริบทแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ผลการสำรวจ ได้สะท้อนให้เห็นการทำงานในประเด็นคนไร้บ้านหลายประการ เช่น สัดส่วนคนไร้บ้านสูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นความท้าทายในกระบวนการป้องกัน และฟื้นฟูคนไร้บ้านในอนาคต ความยากลำบากในการมีงาน และรายได้ที่มั่นคงของกลุ่มประชากรที่เสี่ยงต่อภาวะไร้บ้าน ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงก่อนสูงวัย (pre-elderly) ซึ่งทางจุฬาฯ และเครือข่าย จะทำการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกต่อไป ตลอดจนวางแผนสำรวจจำนวนคนไร้บ้านในวิธี capture-recapture method สุ่มตัวอย่างนับจำนวน ซึ่งจะทำให้สามารถคาดการณ์จำนวนประชากรที่เข้าสู่ภาวะไร้บ้านสะสมในแต่ละปี มีส่วนสนับสนุนในการออกแบบเชิงนโยบายต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น