"เสริมศักดิ์" เผยสภาฯ รับหลักการร่างพ.ร.บ. ชาติพันธุ์ทั้ง 5 ฉบับแล้ววธ. เดินหน้าคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

 เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... โดยกระทรวงวัฒนธรรม ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ร่วมกับร่างพ.ร.บ.ชาติพันธุ์ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และภาคประชาชน รวม 5 ฉบับ และโหวตรับหลักการผ่านทุกร่าง



กว่า 10 ปีที่พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ ร่วมกับ กระทรวงวัฒนธรรม ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และเครือข่ายภาคประชาสังคมร่วมกันผลักดันให้มีการยกฐานะแนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่ม       ชาติพันธุ์ชาวเล ตามมติคณะรัฐมนตรี 2 มิถุนายน 2553 และแนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยง ตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ ให้เป็นร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... เพื่อให้การคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มในประเทศไทยเป็นไปอย่างเสมอภาค ความพยายามดังกล่าว ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีมีมติรับหลักการ เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 และทางสภาผู้แทนราษฎรได้รับร่างดังกล่าว และร่างพระราชบัญญัติที่มีลักษณะเดียวกันอีก 4 ฉบับ พิจารณารับหลักการวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 นี้ 




ร่าง พ.ร.บ. ทั้ง 5 ฉบับที่สภาฯ พิจารณาโหวตรับหลักการ ประกอบด้วย

1. ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ.... เสนอโดย คณะรัฐมนตรี

2. ร่าง พ.ร.บ. สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ. ... เสนอโดย ภาคประชาชน และสภาชนเผ่าพื้นเมือง

3. ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. ... เสนอโดย ภาคประชาชน

4. ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. ... เสนอโดยพรรคก้าวไกล

5. ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ.... เสนอโดยพรรคเพื่อไทย

นับเป็นอีกก้าวสำคัญของประเทศไทยและเป็นความหวังของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ที่กำลังจะมีกฎหมายฉบับแรกที่วางหลักการคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์  สร้างการยอมรับให้กลุ่มชาติพันธุ์มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และสร้างความเท่าเทียมอย่างเป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ในโอกาสนี้ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า “วันนี้ถือเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ ที่สภาฯ ได้โหวตรับหลักการ พ.ร.บ. ชาติพันธุ์ ผ่านทั้ง 5 ฉบับ ตั้งแต่ที่ทางกระทรวงวัฒนธรรมได้จัดงาน KICK OFF กฎหมายชาติพันธุ์ ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนไปเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2567 ผมได้เร่งรัดผลักดันกฎหมายฉบับนี้อย่างเต็มที่ เพื่อเป็นของขวัญให้กับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มในประเทศไทย จนสามารถผ่านกระบวนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรได้อย่างลุล่วง เพื่อให้มีกฎหมายที่เป็นประโยชน์และสอดคล้องกับวิถีชีวิตของพี่น้องชาติพันธุ์ทุกกลุ่มอย่างเสมอภาคกัน”  



ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นกฎหมายสำคัญที่วางรากฐานทางความคิดให้คนไทยเห็นคุณค่าของความหลากหลาย มีทักษะชีวิตที่จะดำรงอยู่ในสังคมที่มีความแตกต่าง สร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคมไทยให้หลุดพ้นจากการเป็นสังคมเปราะบางที่มีปัจจัยเสี่ยงจากความแตกต่างที่อาจทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งรุนแรง ที่ฉุดรั้งการพัฒนาและขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ

####

*** สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อ นายอภินันท์ ธรรมเสนา โทร 094 514 4153 

email: tonseas@hotmail.com


ไม่มีความคิดเห็น

รูปภาพธีมโดย mevans. ขับเคลื่อนโดย Blogger.