ศิลปินแห่งชาติ-นักดนตรีไทย-ลูกทุ่ง-ร่วมสมัย กว่า 1 พันคน ร่วมพิธีไหว้ครู@Suphanburi Thailand ครั้งใหญ่ ในมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ “ดนตรี” สานศิลป์ 2 ถิ่นวัฒนธรรม จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อสืบสานมรดกภูมิปัญญาพร้อมต่อยอดให้สุพรรณบุรี เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรีของโลก

(วันที่ 8 มิถุนายน 2566) กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ได้จัดงานส่งเสริมคุณค่ามรดกภูมิปัญญา “ไหว้ครูดนตรี @Suphanburi Thailand” ซึ่งมีศิลปินนักร้อง นักดนตรีหลากหลายสาขา ร่วมพิธีจำนวนมากกว่า 1,000 คน โดยมีนายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นประธานพิธีเจริญพระพุทธมนต์เช้า และ นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีไหว้ครู นางสาววราพรรณ ชัยชนะศิริ รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เป็นผู้กล่าวรายงาน และมีนางสาวฐิต์ณัฐ สมบัติศิริ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมผู้บริหาร ศิลปินแห่งชาติ ดนตรีไทย ดนตรีลูกทุ่ง และร่วมสมัย อาทิ รัจนา พวงประยงค์ ชัยชนะ บุญนะโชติ ชาย เมืองสิงห์ ขวัญจิต ศรีประจันต์ ศรีนวล ขำอาจ ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี พงษ์ศักดิ์ สวนศรี พร้อมศิลปินพื้นบ้าน นักเรียน นักศึกษาและเยาวชนจังหวัดภาคกลาง-ภาคตะวันออก เครือข่ายวัฒนธรรม ร่วมพิธีอย่างเนืองแน่น ประกอบพิธีไหว้ครูโดย ครูปี๊บ คงลายทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง(ดนตรีไทย) พ.ศ.2563 ณ โรงละครแห่งชาติภาคตะวันตก จังหวัดสุพรรณบุรี




นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า งาน “ไหว้ครูดนตรี @Suphanburi Thailand” เป็นส่วนหนึ่งของงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ “วิถีถิ่น วิถีไทย” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เกิดขึ้นจากการบูรณาการความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมวัฒนธรรม หน่วยงานในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม และเครือข่ายทางวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสืบสานและเผยแพร่ “พิธีไหว้ครู” ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติประจำปี พ.ศ.2554 ให้เป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวาง ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7 - 8 มิถุนายน 2566 ณ โรงละครแห่งชาติภาคตะวันตก และบริเวณศูนย์ราชการกรมศิลปากร จังหวัดสุพรรณบุรี พิธีนี้ถือเป็นครั้งแรกที่เป็นการรวมใจของชาวศิลปิน จาก 5 สายธาร ประกอบด้วย ดนตรีไทย เพลงพื้นบ้าน เพลงลูกทุ่ง เพลงเพื่อชีวิต และเพลงร่วมสมัย พิธีไหว้ครูดนตรีในครั้งนี้ยังเป็นการเตรียมความพร้อมของจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อเข้ารับการพิจารณาเข้าสู่เครือข่าย เมืองสร้างสรรค์ (ด้านดนตรี) ขององค์การยูเนสโก อีกด้วยนายโกวิทกล่าวต่อว่า พิธีไหว้ครูครั้งนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2566 โดยในช่วงเย็นมีพิธีสวดเจริญพระพุทธมนต์เย็น เริ่มจากวงปี่พาทย์บรรเลงโหมโรงเย็นเพื่อเป็นสิริมงคล เป็นสัญญาณว่างานไหว้ครูดนตรีได้เริ่มขึ้นแล้ว และสำหรับเช้าวันที่ 8 มิถุนายน 2566 เริ่มด้วยพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ประกอบด้วย พระพุทธรูป ประจำวิทยาลัย องค์พระพิฆเนศ ศาลพระภูมิเจ้าที่ ต่อด้วยพิธีสวดเจริญพระพุทธมนต์เช้า โดยวงปี่พาทย์บรรเลงเพลงโหมโรงเช้า พระสงฆ์สวดเจริญพระพุทธมนต์เช้า ต่อด้วยถวายภัตราหารเช้า ถวายปัจจัยและเครื่องไทยธรรม พระสงฆ์ให้พรและประพรมน้ำพระพุทธมนต์แก่ผู้เข้าร่วมพิธีเพื่อความเป็นสิริมงคล ปี่พาทย์บรรเลงเพลงมหาชัย เมื่อเสร็จพิธีสงฆ์จึงเข้าสู่ช่วงพิธีไหว้ครู โดยครูปี๊บ คงลายทอง ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) พ.ศ.2563 ผู้ที่มีฝีมือในการเป่าปี่ เป่าขลุ่ย อย่างมีชั้นเชิง และได้รับมอบการอ่านโองการประกอบพิธีไหว้ครู จนเป็นที่ยอมรับของชาวศิลปินด้านดนตรีไทยโดยในเวลา 09.09 น. โดยครูปี๊บ คงลายทอง ผู้ประกอบพิธีได้อ่านโองการประกอบการไหว้ครู พร้อมกล่าวคำถวายข้าวพระพุทธ และถวายเครื่องสังเวย ปี่พาทย์บรรเลงประกอบพิธีตามลำดับ จากนั้น ศิลปิน นักร้อง นักดนตรีไทย ทั้งมืออาชีพและสมัครเล่น รวมถึงศิลปินรุ่นเยาว์ ในจังหวัดสุพรรณบุรีและใกล้เคียง เข้ารับการเจิม รับน้ำมนต์ และไม้มงคล (ซึ่งประกอบไปด้วยใบเงิน ใบทอง ใบมะตูม และหญ้าแพรก ม้วนรวมกันและผูกด้วยด้ายสายสินธุ์) เพื่อสร้างสิริมงคล ต่อด้วยพิธีครอบครูดนตรีไทย ตามลำดับ ในเบื้องต้นของการเริ่มฝึกหัดดนตรีไทยจะแบ่งเป็นการครอบฉิ่ง (สำหรับผู้ฝึกหัดดนตรีประเภทเครื่องสายและขับร้อง) ครอบสาธุการ (สำหรับผู้ฝึกหัดดนตรีประเภทปี่พาทย์) หากผู้ฝึกหัดมีทักษะและคุณสมบัติตามกำหนด ผู้ฝึกหัดปี่พาทย์จะครอบตระโหมโรง ครอบโหมโรงกลางวัน ครอบหน้าพาทย์ชั้นสูง ตามลำดับ จากนั้นจึงเป็น พิธีรับมอบ (ผู้รับมอบต้องมีทักษะและคุณสมบัติตามกำหนด) และเมื่อเสร็จสิ้นพิธีครอบและรับมอบแล้ว ครูปี๊บ ได้กล่าวคำส่งครู ปี่พาทย์บรรเลงเพลง เชิด-กราวรำ จึงเสร็จสิ้นพิธีไหว้ครู


ผู้ประกอบพิธี ครูปี๊บ คงลายทอง ศิลปินแห่งชาติ เปิดเผยว่า งาน “ไหว้ครูดนตรี@Suphanburi Thailand” ครั้งนี้ พิเศษกว่าพิธีไหว้ครูที่ผ่าน เพราะเป็นการรวมพลังของชาวศิลปิน ในจังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดภาคกลางรวมถึงภาคตะวันออก 25 จังหวัด ที่รวมใจกันจัดงานขึ้นเพื่อเป็นการสืบทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่ และส่งต่อสู่เยาวชนรุ่นหลัง ให้มีความตระหนักได้แสดงออกถึงความกตัญญูรู้คุณต่อครูบาอาจารย์ที่ประสิทธิ์ประศาสตร์วิชาให้ ให้มีความรักในศิลปวัฒนธรรมของชาติไทย รวมทั้งเผยแพร่อัตลักษณ์ไทยสู่สังคมโลก โดยศิลปินจากหลายสาขาที่มาร่วมงาน ยังได้ร่วมกันแสดงดนตรีในช่วงค่ำเพื่อเป็นการแสดงถวายมือบูชาครู ถือเป็นการผสมผสานความหลากหลายทางสีสันดนตรีทั้งศิลปินอาชีพและสมัครเล่น กิจกรรมนี้ ถือเป็นการส่งเสริมและเตรียมความพร้อมให้จังหวัดสุพรรณบุรี ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรีของโลก ต่อไป
โดยหลังจากเสร็จพิธีไหว้ครูในช่วงเช้าแล้ว ช่วงค่ำตั้งแต่ เวลา 18.00 น. มีพิธีเปิดกิจกรรม “Suphanburi City of Music” เริ่มด้วยขบวนแห่ Suphanburi Music Festival นำเข้าสู่พิธีเปิด โดยได้รับเกียรติจากผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี (นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป) เป็นประธานเปิดงาน ประกอบด้วยการแสดงดนตรีสาขาต่าง ๆ เพื่อเป็นการถวายมือเนื่องในพิธีไหว้ครู และเปิดโอกาสให้เยาวชนได้แสดงความสามารถและมีแรงบันดาลใจพัฒนาทักษะให้เป็นศิลปินในอนาคต จำนวน 5 เวที ได้แก่ 1.การแสดงเพลงลูกทุ่ง นำโดยศิลปินแห่งชาติ ชัยชนะ บุญนะโชติ คุณสมเศียร พานทอง (ชาย เมืองสิงห์) สมส่วน พรหมสว่าง (เพลิน พรหมแดน พร้อมคณะ) ศิลปินดาวรุ่ง ปานชีวา มนต์สิริ (น้องป่าน) เป็นต้น 2.การแสดงเพลงพื้นบ้าน นำโดยแม่ขวัญจิตร ศรีประจันต์ (ศิลปินแห่งชาติ) แม่ศรีนวล ขำอาจ (ศิลปินแห่งชาติ) สมหญิง ศรีประจันต์ และชาวคณะ 3.การแสดงดนตรีไทย นำโดยธนิสร์ ศรีกลิ่นดี (ศิลปินแห่งชาติ) วงปี่พาทย์เสภา เช่น สำนักการสังคีต กรมศิลปากร คณะบ้านบัวหลวง กลุ่มศิลปินถิ่นสุพรรณรวม 30 คณะ และวงปี่พาทย์ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันชาวนาฏศิลปสุพรรณบุรี เป็นต้น 4.การแสดงลิเกรวมดาว นำโดยคุณพงษ์ศักดิ์ สวนศรี และนักแสดงลิเกชื่อดัง และ 5.เวทีการแสดงดนตรีโดยเยาวชน ในจังหวัดสุพรรณบุรีและใกล้เคียง
พิธีไหว้ครู @สุพรรณบุรี ถือเป็นกิจกรรมแรกของงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ “วิถีถิ่น วิถีไทย” ประจำปี พ.ศ.2566 “ดนตรี” สานศิลป์ 2 ถิ่นวัฒนธรรม ที่จัดระหว่างวันที่ 9 - 13 มิถุนายน 2566 ณ วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อส่งเสริม soft power เผยแพร่มรดกภูมิปัญญา ศิลปะและวัฒนธรรมของจังหวัดต่าง ๆ ในภาคกลางและภาคตะวันออก 25 จังหวัด พลาดไม่ได้กับกิจกรรมกิจกรรมส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ตลาดวัฒนธรรม สานสัมพันธ์เครือข่าย อาทิ ตลาดวัฒนธรรมของดีในภาคกลาง-ภาคตะวันออก กิจกรรมสาธิตการละเล่นพื้นบ้าน ยังได้รับความรู้จากนิทรรศการและการสาธิตมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เพลิดเพลินกับการแสดงทางวัฒนธรรมโดยศิลปินแห่งชาติ ศิลปินพื้นบ้าน และศิลปิน นักร้องลูกทุ่ง ชมและเลือกซื้อสินค้าทางวัฒนธรรม ผลิตภัณฑ์ชุมชนไทย CCPOT 25 จังหวัด รวมถึงผลิตภัณฑ์ด้านดนตรี ของดีบ้านฉันสุพรรณบุรี พร้อมอิ่มอร่อยกับอาหารและขนมขึ้นชื่อหลากรสเต็มอิ่ม


ไม่มีความคิดเห็น

รูปภาพธีมโดย mevans. ขับเคลื่อนโดย Blogger.