อ.ส.ค. งัดเทคโนโลยีดิจิทัล เชื่อมโยงข้อมูลปริมาณน้ำนมดิบ มุ่งเพิ่มประสิทธิภาพงาน และลดค่าใช้จ่าย


อ.ส.ค. เดินหน้าผลักดันโครงการเชื่อมโยงข้อมูลปริมาณน้ำนมดิบ และการตรวจคุณภาพน้ำนมดิบเพื่อให้ราคาน้ำนมดิบด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล  มุ่งเพิ่มประสิทธิภาพงาน และลดค่าใช้จ่ายในอุตสาหกรรมนม อ.ส.ค.


นายสมพร  ศรีเมือง   ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.)  กล่าวว่า    ปัจจุบันภาคตะวันออกเฉียงเหนือนับเป็นอีกพื้นที่สำคัญที่ อ.ส.ค.เข้าไปส่งเสริมการเลี้ยงโคนมให้เกษตรกรและถือเป็นแหล่งผลิตน้ำนมดิบคุณภาพภายใต้มาตรฐานสากลซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง  แต่เนื่องด้วยที่ผ่านมาสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (สภอ.) จ.ขอนแก่น มีโครงสร้างในการจัดการบริหารน้ำนมดิบแตกต่างสำนักงานภาคอื่นๆ  กล่าวคือมีการรับซื้อน้ำนมดิบโดยตรงจากสมาชิกผู้เลี้ยงโคนมโดยไม่ผ่านสหกรณ์   โดยมีศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบที่ขึ้นตรงต่อ อ.ส.ค. ทั้งหมด 7 ศูนย์ด้วยกันได้แก่ 1.ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบนำพอง  2.ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบกระนวน 3.ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบพังทุย 4.ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบอุบลรัตน์-เขาสวนกวาง 5.ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบศีธาตุ 6.ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบทุ่งฝน และ7.ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบหนองวัวซอ  โดยศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบที่ 1-4 จะอยู่ในพื้นที่ จ.ขอนแก่น ส่วนลำดับที่ 5-7 อยู่ในพื้นที่ จ.อุดรธานี    


ทั้งนี้ ปัจจุบันพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสมาชิกผู้เลี้ยงโคนมจำนวน 670 ราย  เดิมการคิดราคาน้ำนมดิบจะทำโดยกองส่งเสริมการเลี้ยงโคนม โดยจะใช้ข้อมูลการปริมาณน้ำหนักน้ำนมดิบจากศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ และคุณภาพน้ำนมดิบจากแผนกควบคุมคุณภาพน้ำนมดิบ กองโรงงาน ซึ่งจะมีการให้ราคาและจ่ายเงินแก่สมาชิกผู้เลี้ยงโคนม 2 ครั้ง/1 เดือน โดยจะทำการให้ราคาทุกวันที่ 15 และ 30 ของทุกๆเดือน บางครั้งพบว่าในบางครั้งจะตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ หรือวนหยุดนักชัตฤกษ์ ทำให้เป็นภาระต่อพนักงานผู้ทำการให้ราคาน้ำนมดิบ (พนักงานธุรการ กองส่งเสริมฯ) และ อ.ส.ค. เนื่องจากจะมีค่าใช้จ่ายในการทำงานวันหยุดให้แก่พนักงาน และพนักงานไม่ได้หยุดพักผ่อนตามสิทธิ์  "เพื่อเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าว อ.ส.ค. จึงได้จัดทำโครงการเชื่อมโยงข้อมูลปริมาณน้ำนมดิบ และการตรวจคุณภาพน้ำนมดิบเพื่อให้ราคาน้ำนมดิบด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลขึ้น เพื่อช่วยในการเชื่อมโยงข้อมูลด้านปริมาณน้ำนมดิบจากกองส่งเสริมฯ และคุณภาพน้ำนมดิบจากแผนกควบคุมคุณภาพน้ำนมดิบด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อให้ให้สามารถลดเวลาการปฏิบัติงาน เพิ่มประสิทธิภาพงาน และลดค่าใช้จ่ายได้  เนื่องจากแผนกควบคุมคุณภาพน้ำนมดิบจะทำการส่งข้อมูลด้านคุณภาพนมได้แก่ 1.Solid Not Fat (SNF) 2.Fat 3.MB และ 4.SCC ลงในระบบโปรแกรมสำเร็จรูปที่เชื่อมโยงกับกองส่งเสริมฯ จึงทำให้สามารถลดเวลาในการทำงานลงได้ เนื่องจากกองส่งเสริมฯจะมีหน้าที่เพียงลงข้อมูลการปฏิบัติที่ดีด้านปศุสัตว์ การตรวจสอบความถูกต้อง และพิมพ์เอกสารการจ่ายเงินเท่านั้น โดยโครงการดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ และคณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม” นายสมพร กล่าว    


นายสมพร  กล่าวถึงวิธีการดำเนินการโครงการด้วยว่า   เบื้องต้นจะมีการศึกษาระบบโปรแกรมสำเร็จรูป และความเหมาะสมจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม   จากนั้นออกแบบแบบประเมิน และประเมินความพึงพอใจสำหรับคุคลากรที่เกี่ยวข้องก่อนเข้าร่วมโครงการ  และจะมีติดตั้งโปรแกรมสำเร็จรูปในการเชื่อมโยงข้อมูลปริมาณ คุณภาพน้ำนมดิบเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลในอันดับสุดท้าย


ไม่มีความคิดเห็น

รูปภาพธีมโดย mevans. ขับเคลื่อนโดย Blogger.