‘5 เช็คลิสต์’ พ่อแม่ยุคโควิดต้องรู้ เตรียมความพร้อมก่อน ‘พาลูกฉีดวัคซีน’ รับมือโอมิครอน BA.4 - BA.5
หลังจากเด็ก ๆ กลับมาเปิดเทอมเรียนออนไซต์ตามปกติเกือบ 2 เดือน พ่อแม่ผู้ปกครองก็ต้องวิตกกังวลกันอีก เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีทีท่าว่าอาจจะกลับมารุนแรงอีกครั้ง อีกทั้งไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่แม้จะรุนแรงน้อย แต่ระบาดได้รวดเร็ว ได้มีการกลายพันธุ์เป็น BA.4 และ BA.5 โดยมีข้อมูลว่าอาจยิ่งระบาดได้ง่ายและมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น จึงสร้างความกังวลใจให้คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกวัยเรียนไม่น้อย อย่างไรก็ดี แม้การแพทย์ปัจจุบันจะยังป้องกันการติดเชื้อโควิดไม่ได้ 100% แต่การฉีดวัคซีนโควิดก็สามารถลดโอกาสการป่วยรุนแรงจากการติดเชื้อได้ โดยผู้ปกครองหลายท่านก็อาจกำลังวางแผนพาลูกหลานไปฉีดวัคซีน ซึ่งการฉีดวัคซีนโควิดในเด็กนั้นมีข้อพิจารณาที่แตกต่างจากผู้ใหญ่ ดังนั้น วันนี้เราจึงมีข้อมูล “5 เช็คลิสต์” เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิดในเด็กมากฝากบรรดาคุณพ่อคุณแม่
1.อายุเท่านี้ ฉีดวัคซีนได้หรือยัง?
ก่อนที่จะพาบุตรหลานไปฉีดวัคซีน สิ่งสำคัญที่ต้องรู้ก่อนคืออายุของบุตรหลานถึงกำหนดที่สามารถรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้แล้วหรือยัง เช่นเดียวกับวัคซีนเด็กชนิดอื่น ๆ การอนุมัติวัคซีนโควิด-19 มักจะเริ่มอนุมัติในผู้ใหญ่และมาที่เด็กโตก่อน แล้วจึงขยายขอบเขตการศึกษาวิจัยและอนุมัติมายังกลุ่มเด็กเล็ก ด้วยความที่กำหนดอายุของการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเด็กยังคงอยู่ในกระบวนการอนุมัติโดย อย.อย่างต่อเนื่อง ท่านผู้ปกครอง โดยเฉพาะของกลุ่มเด็กเล็ก จึงต้องมีการอัพเดทข้อมูลช่วงอายุที่ฉีดวัคซีนได้อย่างสม่ำเสมอ ยกตัวอย่างกรณีจากต่างประเทศ อย่างเช่น ประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศอันดับแรก ๆ ที่มีการอนุมัติใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ในเด็ก เริ่มแรกมีการอนุมัติให้ฉีดวัคซีนในเด็กวัยรุ่นอายุ 13-15 ปี เป็นกลุ่มแรก หลังจากนั้นจึงขยายมายังกลุ่มเด็กโตอายุ 6-12 ปี และล่าสุดเมื่อปี 2564 จีนได้อนุมัติวัคซีนเชื้อตายในเด็กอายุ 3 ขวบขึ้นไป เช่นเดียวกับกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ กัมพูชา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ฯลฯ ก็เริ่มมีการขยายกรอบการอนุมัติใช้วัคซีนในเด็กอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปแล้วเช่นกัน ในส่วนของประเทศไทย ช่วงอายุที่สามารถฉีดวัคซีนได้ ข้อมูลล่าสุด ณ ขณะนี้ คือ กลุ่มเด็กและเยาวชนที่มีอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป โดยสำหรับผู้ปกครองที่มีบุตรหลานอายุต่ำกว่า 5 ปี ยังไม่สามารถให้รับการฉีดวัคซีนได้ แต่อย่างไรก็ตาม ดูจากแนวโน้มของต่างประเทศที่เริ่มมีการฉีดวัคซีนในเด็กเล็กอย่างแพร่หลายมากขึ้น การฉีดวัคซีนโควิดในเด็กเล็กในบ้านเราก็อาจมีการปรับเปลี่ยนในเร็ว ๆ นี้
2.เด็กมีโรคประจำตัว ฉีดวัคซีนเลยหรือรอไปก่อน?สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกมีโรคประจำตัว หลายคนอาจยังไม่กล้าพาลูกไปรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เนื่องจากความกังวลในเรื่องของอาการแพ้วัคซีน รวมถึงกลัวว่าวัคซีนอาจไปกระตุ้นอาการของโรคประจำตัวขึ้นมา ซึ่งสำหรับกลุ่มเด็กที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 7 โรคกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ โรคอ้วนที่มีภาวะทางเดินหายใจอุดตัน โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตวายเรื้อรัง โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน รวมถึงกลุ่มโรคพันธุกรรมและเด็กที่มีพัฒนาการช้า ก็ได้มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของไทยแนะนำไว้ว่า เด็กที่มีโรคประจำตัวควรเป็นกลุ่มที่ต้องได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ก่อนกลุ่มเด็กที่มีสุขภาพแข็งแรงทั่วไป เนื่องจากเด็กในกลุ่มนี้เมื่อได้รับเชื้อโควิด-19 แล้วอาจมีโอกาสที่จะป่วยหนักโดยมีอาการรุนแรงมากกว่าหากยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยการเตรียมตัวก่อนฉีดวัคซีนสำหรับเด็กใน 7 กลุ่มโรคเสี่ยง สามารถทานยาประจำที่ทานอยู่ได้ตามปกติ โดยควรมีการปรึกษากุมารแพทย์ก่อนการรับวัคซีน ทั้งนี้ วัยเด็กมีโอกาสได้รับเชื้อโควิดไม่น้อยไปกว่าช่วงวัยอื่น ๆ ซึ่งการฉีดวัคซีนไม่เพียงช่วยลดอันตรายจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ยังเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะช่วยให้เด็ก ๆ ได้ออกไปเรียนรู้และใช้ชีวิตตามปกติได้โดยเร็ว อันเป็นปัจจัยหลักในการเสริมสร้างพัฒนาการของเด็ก ขณะที่คุณพ่อคุณแม่ที่กังวลในเรื่องความปลอดภัยของวัคซีนก็สามารถวางใจได้ว่าวัคซีนที่ได้รับอนุมัติในเด็กในปัจจุบันนั้นได้ผ่านการศึกษาด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยในกลุ่มเด็ก
3.เข็มบูสเตอร์สำหรับเด็ก จำเป็นแค่ไหน?
ปริมาณการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในวัยผู้ใหญ่ในไทยขณะนี้ส่วนใหญ่เริ่มได้รับวัคซีนเข็ม 3 หรือเข็ม 4 กันแล้ว ในขณะที่เด็กกำลังเริ่มรับวัคซีนเป็นเข็มแรก และกำลังรอฉีดเข็ม 2 ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ยังมีเด็กตกค้างที่ยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 อีกจำนวนไม่น้อยนั้นมาจากการที่ผู้ปกครองยังมีความกังวลทั้งเรื่องความเข้าใจในตัววัคซีน ความปลอดภัย และประสิทธิภาพของวัคซีนชนิดต่าง ๆ รวมถึงสำหรับเด็กที่ได้รับวัคซีนไปแล้ว ต้องเข้าสู่ช่วงได้รับเข็มกระตุ้น ก็เกิดความไม่มั่นใจว่าวัคซีนแต่ละชนิดควรฉีดเป็นเข็มที่เท่าไหร่ ฉีดไปแล้วควรฉีดชนิดเดียวกันซ้ำอีกหรือไม่ ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยเว้นระยะเวลาอย่างเหมาะสม นอกจากจะสามารถช่วยสร้างภูมิคุ้มกันได้เป็นอย่างดี ยังช่วยลดโอกาสในการป่วยอาการหนักเมื่อได้รับเชื้ออีกด้วย โดยการเว้นระยะวัคซีนเข็มแรกและเข็มที่ 2 ที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มเด็ก ในกรณีที่เข็มแรกเป็นวัคซีนเชื้อตายจะอยู่ที่ 4 สัปดาห์ และ 8 สัปดาห์ในกรณีที่เข็มแรกเป็นวัคซีน mRNA
4.วัคซีนโควิด-19 ฉีดร่วมกับวัคซีนเด็กชนิดอื่นได้หรือไม่?
ก่อนจะมาเป็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 เทคโนโลยีวัคซีนบางชนิด อย่างเช่น วัคซีนเชื้อตาย ได้มีการพัฒนาเพื่อใช้ในการเป็นวัคซีนป้องกันโรคในเด็กมาเป็นเวลานานแล้ว อาทิ ไวรัสตับอักเสบเอ โปลิโอ และไข้หวัดใหญ่ ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องพาลูกไปฉีดวัคซีนเด็กตามนัดหมาย อาจเกิดความสงสัยว่า วัคซีนเด็กสำหรับป้องกันโรคอื่น ๆ สามารถฉีดร่วมกับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้หรือไม่ สำหรับกรณีนี้ กรมควบคุมโรคได้แนะนำว่า สำหรับเด็กที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นชนิดเชื้อตาย หรือ mRNA ควรเว้นระยะห่าง 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม สำหรับวัคซีนสำหรับการป้องกันการติดเชื้อแบบฉุกเฉินบางตัว ที่มีการกำหนดระยะเวลารับวัคซีน เช่น โรคติดเชื้อหลังการสัมผัส อย่างโรคพิษสุนัขบ้า และบาดทะยัก สามารถเข้ารับวัคซีนได้ตามกำหนดโดยไม่ต้องเลื่อน ถึงแม้จะเป็นวันเดียวกับการรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ก็ตาม
5.อาการหลังฉีดวัคซีน แบบไหนถึงควรพบแพทย์?
แน่นอนว่า คุณพ่อคุณแม่ทุกคนย่อมต้องการที่จะเลือกให้บุตรหลานของตนรับวัคซีนที่ปลอดภัยและได้ประสิทธิภาพที่สุด และหลายคนอาจเกิดความกังวลใจว่าบุตรหลานฉีดวัคซีนไปแล้วจะเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายหรือไม่ ทั้งนี้ อาการข้างเคียงหลังการฉีดวัคซีนในเด็กก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ โดยอาการที่อาจเกิดขึ้น คือ มีอาการปวด บวม แดง ร้อน บริเวณที่ฉีดวัคซีน อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ หรือมีไข้ ซึ่งอาการส่วนใหญ่มักเกิดในระยะ 3 วันแรก แต่ถ้าหากมีอาการผิดปกตินอกเหนือจากอาการข้างต้น เช่น แน่นหน้าอก ใจสั่น หอบ เหนื่อยง่ายผิดปกติ ควรพาบุตรหลานไปพบแพทย์ทันที
ทั้งนี้ กรณีผลข้างเคียงในเด็กจากวัคซีนโควิด-19 ที่ไม่รุนแรงนั้น ล่าสุดวัคซีนเชื้อตาย โดยซิโนแวค ไบโอเทค บริษัทผู้วิจัย ผลิต และพัฒนาวัคซีนซิโนแวค ก็กำลังเป็นที่จับตา โดยขณะที่โควิด-19 ยังไม่หมดไป ทางซิโนแวค ไบโอเทค ก็เดินหน้าวิจัยและพัฒนาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ๆ และซิโนแวคก็เป็นหนึ่งในวัคซีนชนิดเชื้อตายที่ในไทยอนุมัติให้ใช้สำหรับเด็กไทย หลังจากที่ผ่านมาซิโนแวคเป็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิดเชื้อตายที่ได้รับการอนุมัติให้ฉีดในไทยครอบคลุมทั้งในกลุ่มผู้ใหญ่ที่เป็นประชาชนทั่วไป และผู้สูงอายุ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีโรคประจำตัว หรือที่เรียกว่ากลุ่ม 608 ส่วนกลุ่มเด็กนั้นได้รับการอนุมัติให้ฉีดได้กับเด็กไทยกลุ่มอายุ 6 ปีขึ้นไป ในขณะที่วัคซีนซิโนแวคนั้นได้รับการอนุมัติฉุกเฉินโดยองค์การอนามัยโลกให้ฉีดในเด็กและเยาวชนใน 14 ประเทศทั่วโลก และปัจจุบันถูกแจกจ่ายไปยังกลุ่มเด็กแล้วกว่า 260 ล้านโดสทั่วโลก โดยวัคซีนได้ถูกทดสอบประสิทธิภาพผ่านงานวิจัยที่น่าเชื่อถือในนานาประเทศ
ล่าสุด มีรายงานผลการวิจัยจาก Chilean Real-World ประเทศชิลี เผยว่า วัคซีนเชื้อตายมีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ในเด็กอายุ 6-16 ปี ได้กว่า 74.5% และป้องกันอัตราการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจากการติดเชื้อได้ถึง 91% และอาการรุนแรงฉุกเฉิน 93.8% ในขณะที่ประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนนั้น พบว่า ในเด็กอายุ 3-5 ปีสามารถป้องกันการต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล ได้ 64.6% และ ป้องกันอาการรุนแรงฉุกเฉิน ได้ 69% และมีข้อมูลของสถาบันสาธารณสุขชิลี (ISP) จากรายงานประเมินผลการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในเด็กและเยาวชนจำนวนกว่า 6.9 ล้านโดสทั่วประเทศ พบว่า หลังฉีดวัคซีนซิโนแวค มีอัตราการเกิดผลข้างเคียงในเด็กอยู่ในระดับต่ำ คือ 10.67 ต่อ 100,000 โดส ซึ่งอาการข้างเคียงนั้นก็เป็นอาการในระดับที่ไม่รุนแรง
ไม่มีความคิดเห็น