ไทย-จีนกระชับความสัมพันธ์ครบรอบ 50 ปีสถาปนาการทูต ประเดิมจัด “นิทรรศการ Chinese Xieyi เสี่ยอี้ สุนทรียศิลป์แห่งจีนประเพณี” โชว์ผลงานศิลปะจีนร่วมสมัยชิ้นเยี่ยมของศิลปินดัง 63 รายการ ณ หอศิลป์ ถนนเจ้าฟ้า ระหว่าง 27 ธ.ค.66 – 18 ก.พ.67
นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า นโยบายรัฐบาลและนโยบายของนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมมุ่งนำมิติด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมมาเชื่อมและกระชับความสัมพันธ์ทางการทูตกับนานาประเทศ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศไทยในเวทีนานาชาติ ซึ่งนิทรรศการ Chinese Xieyi เสี่ยอี้ สุนทรียศิลป์แห่งจีนประเพณี : ผลงานศิลปะร่วมสมัยจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งชาติจีน เป็นความร่วมมือทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมระหว่างหน่วยงานของรัฐบาลไทยและจีน เป็นการจัดกิจกรรมภายใต้แผนปฏิบัติการว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรมระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน สําหรับปี พ.ศ. 2566-2570 โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป กรมศิลปากรและพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งชาติจีน เป็นผู้ดำเนินการจัดนิทรรศการครั้งนี้ขึ้นระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2566 - 18 กุมภาพันธ์ 2567 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพฯ
ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า นิทรรศการ Chinese Xieyi เสี่ยอี้ สุนทรียศิลป์แห่งจีนประเพณี : ผลงานศิลปะร่วมสมัยจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งชาติจีน นำเสนอจิตวิญญาณและการแสดงแบบจีนร่วมสมัยผ่านผลงานจิตรกรรมและประติมากรรมที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากศิลปะและวัฒนธรรมแบบจีนโบราณ โดยหยิบยก "เสี่ยอี้" มาเป็นหัวข้อหลักของนิทรรศการ และใช้จิตรกรรมจีนร่วมสมัย จิตรกรรมสีน้ำมัน จิตรกรรมสีน้ำและประติมากรรม มาสร้างสรรค์เป็นเนื้อหาสำคัญเพื่อแสดงถึงจิตวิญญาณและรูปแบบเฉพาะของเสี่ยอี้ ทั้งยังสะท้อนถึงรูปแบบการสร้างสรรค์ และวิวัฒนาการร่วมสมัยของจิตวิญญาณเสี่ยอี้ โดยนิทรรศการในครั้งนี้คัดเลือกผลงานที่สร้างสรรค์อย่างยอดเยี่ยมทั้งสิ้น 63 รายการ ทั้งจิตรกรรมและประติมากรรมจากศิลปินที่มีชื่อเสียงในประเทศจีน 42 คน
“นิทรรศการนี้ถือเป็นการเริ่มต้นต้อนรับการเฉลิมฉลอง เนื่องในวาระครบรอบ 50 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนและราชอาณาจักรไทยที่กำลังจะมาถึงในอีก 2 ปีข้างหน้าคือ ในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2568 ช่วยเผยแพร่ความรู้และเสริมสร้างความเข้าใจศิลปะจีนร่วมสมัยแก่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ ถือเป็นแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศพันธมิตรให้มีความแข็งแกร่งและแน่นแฟ้นมากขึ้น ” นางยุพา กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น