"เสริมศักดิ์” ชวนเที่ยวไหว้พระ-วิถีวัฒนธรรม 55 เมืองรอง วธ. พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวสัมผัสเสน่ห์การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ชวนเที่ยวกันตลอดปี ร่วมผลักดัน Soft Power ของไทยไปไกลทั่วโลก

 นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นหมุดหมายของการท่องเที่ยวระดับโลก และให้ทุกหน่วยงานขับเคลื่อนการดำเนินงานส่งเสริมการท่องเที่ยว 55 เมืองรอง เน้นเอกลักษณ์ท้องถิ่น เป็นจุดขายทางวัฒนธรรม ออกแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวควบคู่กับการพัฒนาสินค้าชุมชน ตลอดจนยกระดับการคมนาคม อำนวยความสะดวกการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวทั่วไทย โดยมุ่งหวังให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยเป็นอีกส่วนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจควบคู่กับนโยบายพลิกฟื้นเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ ทางกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จึงขานรับและพร้อมดำเนินการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจผ่านกิจกรรมและโครงการต่างๆ ตามนโยบายของ วธ. ขับเคลื่อนงานด้านวัฒนธรรมตามกรอบนโยบายหลัก “วัฒนธรรมนำเศรษฐกิจ” ขับเคลื่อน Soft Power สร้างเสน่ห์วิถีไทย ครองใจคนทั้งโลก อาทิ ร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จัดทำแพ็คเกจท่องเที่ยวแบบ 3 วัน 2 คืน โดยเชื่อมโยงเส้นทางแหล่งท่องเที่ยว 3 จังหวัดที่มีพื้นที่อยู่ใกล้เคียงกัน และตั้งเป้าหมายจะนำร่องการท่องเที่ยวพหุวัฒนธรรมชายแดนภาคใต้ใน 3 จังหวัด ได้แก่ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลาและสตูล เพื่อให้คนไทยและชาวต่างชาติได้เที่ยวชมแหล่งท่องเที่ยว อาทิ วัด ศาสนสถาน โบราณสถาน ภูเขา น้ำตก ทะเล ตลาดวัฒนธรรม รวมทั้งชมศิลปะการแสดงพื้นบ้านและชิมอาหาร ผลไม้ท้องถิ่น และช้อปผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ด้วย





นอกจากนี้ วธ. ยังมีโครงการและกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเด่นๆ ที่พร้อมผลักดันเศรษฐกิจฐานรากให้มีเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ตลอดปี 2567 ได้แก่ โครงการยกระดับเทศกาลประเพณีไปสู่ระดับชาติและนานาชาติ ที่ได้ประกาศมาแล้ว 22 จังหวัด อาทิ 1.เทศกาลร่มบ่อสร้างและหัตถกรรมสันกำแพง จ.เชียงใหม่ 2.ประเพณีกำฟ้าไทยพวน จ.แพร่ 3.มหกรรมวัฒนธรรมสานสัมพันธ์อิ้วเมี่ยนโลก จ.พะเยา 4.เทศกาลลานตาลันตา 5.งานวิสาขปุรณมีบูชา สักการะมหาสถูปเจดีย์เขาคลังนอก จ.เพชรบูรณ์ และ6.ประเพณีบุญกระธูปออกพรรษา จ.ชัยภูมิ เป็นต้น




โครงการคัดเลือก 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ปี 2566 อาทิ 1.ชุมชนคุณธรรมฯ วัดท่าขนุน ต.ท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี 2.ชุมชนคุณธรรมฯ บ้านปากน้ำชุมพร ต.ปากน้ำ อ.เมืองชุมพร จ.ชุมพร 3.ชุมชนคุณธรรมฯวัดพระธาตุผาเงา ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย 4.ชุมชนคุณธรรมฯ วัดพระธาตุช่อแฮ ตำบลช่อแฮ อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ 5.ชุมชนคุณธรรมฯ บ้านฟ้าหยาด ตำบลฟ้าหยาด อำเภอมหาชัยชนะ จังหวัดยโสธร 6.ชุมชนคุณธรรมฯ วัดบ้านหงาว ตำบลหงาว อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง 7.ชุมชนคุณธรรมฯ บ้านท่ามะขาม ตำบลสวนผึ้ง อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี 8.ชุมชนคุณธรรมฯ วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ตำบลนาทราย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน 9.ชุมชนคุณธรรม ฯ บ้านท่าฉลอม ตำบลท่าฉลอม อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร 10.ชุมชนคุณธรรมฯ บ้านโนนกอก ตำบลหนองนาคำ อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี



นอกจากนี้ อยากชวนนักท่องเที่ยวร่วมเดินทางท่องเที่ยวมรดกโลก อาทิ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ วัดไชยวัฒนารามยามราตรี อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยในปี 2567 นี้ วธ. มีแผนผลักดันสถานที่ท่องเที่ยวเมืองรองขึ้นเป็นมรดกโลกอีกหลายแห่ง อาทิ ผลักดันจังหวัดน่านเป็นเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรมคู่เมืองหลวงพระบาง สปป.ลาว รวมถึงผลักดันนำเสนอแหล่งจังหวัดสงขลา และชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริมทะเลสาบสงขลา เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก ยูเนสโก


ตลอดจนงานใหญ่แห่งปี 2567 นี้ สนุกสนานไปกับงาน 'Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567 ทั่วประเทศ ชมขบวนรถพาเหรดกว่า 20 ขบวน ได้แก่ ขบวนรถพระพุทธรูป ขบวนรถเทพีสงกรานต์ ประจำปี 2567 มโหธรเทวี เสด็จไสยาสน์ลืมเนตรเหนือหลังนกยูง ขบวนรถพาเหรด 16 จังหวัด ที่โดดเด่นซึ่งเป็นกลุ่มจังหวัดที่ประเทศไทยนำเสนอเพื่อขอขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี สมุทรปราการ นครศรีธรรมราช กลุ่ม 5 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ เชียงราย หนองคาย พิษณุโลก สงขลา บุรีรัมย์ และกลุ่มจังหวัดอื่นๆ ที่มีศักยภาพและมีการจัดงานประเพณี 'สงกรานต์' ที่มีเอกลักษณ์ 6 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา นครพนม ลำปาง เลย สุโขทัย และภูเก็ต โดยจัดตกแต่งขบวนรถพาเหรดที่แสดงถึงประเพณีวัฒนธรรม บ่งบอกถึงสัญลักษณ์หรือของดีประจำจังหวัดที่สำคัญ ในแต่ละจังหวัดจะมีอาหารอร่อยๆ หาทานได้ยาก ต้องไปสัมผัสถึงจังหวัดนั้นๆ ถึงจะได้ลิ้มลอง โดยท่านใดสนใจสามารถตะลุยเที่ยว เปิดคู่มือตามกิจกรรม 1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น ซึ่งเป็นกิจกรรมส่งเสริมให้คนไทยได้ตระหนักเกิดความภาคภูมิใจกระตุ้นให้เกิดการยกระดับอาหารไทยพื้นถิ่น สู่อาหารจานเด็ดที่ต้องชิม ผลักดันให้เป็นเมนูซอฟพาวเวอร์ ส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างรายได้หนุนเศรษฐกิจของท้องถิ่นและประเทศให้ยั่งยืน อาทิ น้ำพริกเม็ดบัวปลาย่าง จังหวัดพิษณุโลก แกงกะลากรุบ จังหวัดราชบุรี ข้าวต้มมัดบัวแดง จังหวัดอุดรธานี น้ำซุปเมืองหลาง 9 อย่าง จังหวัดภูเก็ต เป็นต้น นับเป็นไอเท็มลับๆ ที่ท้าทายความสามารถของนักท่องเที่ยวเลยทีเดียวและกิจกรรม Thailand Biennale ที่ล่าสุดจัดที่จังหวัดเชียงราย แม้จะเป็นจังหวัดเมืองรอง แต่เต็มไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวสวยงามเป็นเมืองแห่งศิลปะ จึงดำเนินการส่งเสริมให้จังหวัดเชียงรายกลายเป็นเมืองศิลปะระดับโลก และเป็นจุดหมายที่นักเดินทางทั่วโลกอยากมาเยี่ยมชมสร้างการบูรณาการระหว่างศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วยความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ซึ่งจัดงานมาตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2566 – 30 เมษายน 2567 โดยล่าสุดมีผู้เข้าชมงานและร่วมกิจกรรมภายในงานนี้ทั้งหมดกว่า 1,600,000 คน สร้างเม็ดเงินเข้าประเทศได้เป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ เมืองรองมี 55 จังหวัด ได้แก่ ภาคเหนือ 16 จังหวัดเชียงราย พิษณุโลก ตาก เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สุโขทัย ลำพูน อุตรดิตถ์ ลำปาง แม่ฮ่องสอน พิจิตร แพร่ น่าน กำแพงเพชร อุทัยธานี และพะเยา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 18 จังหวัด อุดรธานี อุบลราชธานี หนองคาย เลย มุกดาหาร บุรีรัมย์ ชัยภูมิ ศรีสะเกษ สุรินทร์ สกลนคร นครพนม ร้อยเอ็ด มหาสารคาม บึงกาฬ กาฬสินธุ์ ยโสธร หนองบัวลำภู และอำนาจเจริญ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก 12 จังหวัดลพบุรี สุพรรณบุรี นครนายก สระแก้ว ตราด จันทบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม ปราจีนบุรี ชัยนาท อ่างทอง และสิงห์บุรี ภาคใต้ 9 จังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สตูล ชุมพร ระนอง นราธิวาส ยะลา และปัตตานี

“กระทรวงวัฒนธรรม พร้อมกระตุ้นการท่องเที่ยว 55 เมืองรอง ขับเคลื่อนโครงการกิจกรรมชูความเป็นไทย ผลักดันให้ทุกจังหวัดและทุกชุมชนสามารถนำทุนทางวัฒนธรรมมาใช้สร้างเศรษฐกิจ ดึงนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ นำรายได้สู่ประเทศ การท่องเที่ยวคึกคัก เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก” นายเสริมสักดิ์กล่าว


ไม่มีความคิดเห็น

รูปภาพธีมโดย mevans. ขับเคลื่อนโดย Blogger.