กระแสตอบรับแรงเกินคาด โครงการ K-Engineering WiLวิศวลาดกระบังเดินหน้าไม่หยุด เร่งผลิตวิศวกรคุณภาพตอบโจทย์บริษัทชั้นนำภาคอุตสาหกรรม

 

จากนโยบายของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดย รศ.ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สจล. ได้กล่าวไว้ว่า สจล. มีนโยบาย Global Learning และ Global Citizen มุ่งสู่ความเป็นเลิศทางด้านการศึกษาที่มุ่งเน้นให้นักศึกษาได้เรียนรู้ทฤษฎีและปฏิบัติจริงในภาคอุตสาหกรรม และโครงการ K-Engineering Work-integrated Learning หรือ K-Engineering WiL ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. นับเป็นหนึ่งในการ disrupt ทางการศึกษาและมุ่งสู่ความเป็น Global และ Practical engineer อย่างแท้จริง ซึ่งที่ผ่านมาคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ได้ผลักดันหลักสูตรทั้งระดับปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษาที่มีความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม ทำให้เกิดโมเมนตัมผลักดันให้เกิดงานวิจัยและนวัตกรรมตอบโจทย์ The World Master of Innovation อย่างแท้จริง

รศ.ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า “โครงการ K-Engineering Work-integrated Learning” หรือ “K-Engineering WiL” ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. เป็นหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ (Higher Education Sandbox) สนับสนุนการผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) แล้ว และยังได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานภาคีภาคอุตสาหกรรม (Industrial Consortium) มากกว่า 20 บริษัทชั้นนำของประเทศ โดยโครงการนี้พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการผลิตบัณฑิต ให้เป็นบัณฑิตที่มีสมรรถนะและศักยภาพสูง สามารถนำความรู้พื้นฐานและเทคโนโลยีไปปฏิบัติงานได้จริงในภาคอุตสาหกรรมนับเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีหลักสูตรนำร่องหลายหลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรวิศวกรรมระบบอุตสาหกรรมการเกษตร (ต่อเนื่อง) หลักสูตรวิศวกรรมระบบไอโอทีและสารสนเทศ หลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ และหลักสูตรวิศวกรรมการผลิตวิชาชีพ เป็นต้น

ทุกหลักสูตรมีการออกแบบการเรียนรู้เชิงบูรณาการ นักศึกษาที่เข้าร่วมในโครงการนี้ จะได้เรียนรู้ผ่านการทำงานกับบริษัทชั้นนำ เกิดการเรียนรู้ พัฒนาทักษะและแก้ปัญหาจากการปฏิบัติงานจริง โดยทาง สจล. มีการออกแบบแต่ละหลักสูตรร่วมกับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมโครงการ มีการปรับเพิ่มวิชาหลักและวิชาเลือก ให้สอดคล้องทั้งทางทฤษฎีและการลงมือปฎิบัติในสถานประกอบการ เพื่อการเรียนรู้และพัฒนาทักษะต่างๆ ที่จำเป็นต่อการทำงานอย่างแท้จริง อาทิ ทักษะการแก้ปัญหา การทำงานร่วมกับผู้อื่น การสื่อสาร และที่สำคัญคือ core skill ด้านการใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ และเทคโนโลยี โดยช่วงระยะเวลาเรียนรู้ผ่านสถานประกอบการ 1-2 ปี นักศึกษาจะได้รับค่าตอบแทน รวมถึงสวัสดิการต่างๆ จากทางบริษัทฯ ได้รู้จักชีวิตการทำงานที่แท้จริงก่อนสำเร็จการศึกษา โดยมีอาจารย์และเจ้าหน้าที่จากสถานประกอบการร่วมกันกำกับดูแลและวัดผลในรายวิชาต่างๆ อย่างใกล้ชิดตลอดเวลา

นายกิจพัฒน์ ตระกูลเมฆี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ กลุ่มงานทรัพยากรบุคคล กลุ่มมิตรผล ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก ที่ต่อยอดสู่ธุรกิจพลังงานทดแทน ธุรกิจวัสดุทดแทนไม้ ธุรกิจปุ๋ย และธุรกิจไบโอเบส กล่าวว่า “จากนโยบายของ คุณบรรเทิง ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการ กลุ่มมิตรผล และหนึ่งในปรัชญาการดำเนินธุรกิจของกลุ่มมิตรผลตลอดระยะเวลา 67 ปี “เชื่อมั่นในคุณค่าของคน” เราเชื่อว่า “คน” เป็นทรัพยากรที่ทรงคุณค่าขององค์กร จึงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและสนับสนุนบุคลากรให้มีความรอบรู้ในงานที่ทำ โดยเฉพาะจากอุตสาหกรรมการเกษตรที่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อให้สอดรับกับเทรนด์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การปรับตัวการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการจัดการเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อยกระดับภาคเกษตรให้ทันสมัยและแข่งขันในตลาดโลกได้ ดังนั้นการสร้างบุคลากรสนับสนุนให้มีความรอบรู้ในงานด้านอุตสาหกรรมการเกษตร สร้างประสบการณ์และเพิ่มความชำนาญงาน ปรับตัวให้เท่าทันโลกการเกษตรยุคใหม่ให้เป็น Smart Farming คือการสร้างเมล็ดพันธุ์ที่ดีให้กับสังคมและไม่ว่าจะถูกหว่านไปที่ไหนย่อมเติบโตและแข็งแกร่งเสมอ เช่นเดียวกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่มีความเป็นเลิศในการผลิตบุคลากรด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่มีความพร้อมต่อภาคเกษตรอุตสาหกรรม จึงนับเป็นโอกาสดีของความร่วมมือผนวกองค์ความรู้และประสบการณ์ของกลุ่มมิตรผลเข้ากับแนวทางของ สจล. โดยร่วมกันดำเนินกิจกรรมภายใต้บันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการใน “โครงการบูรณาการการเรียนรู้ร่วมกับการทำงานในภาคอุตสาหกรรม K-Engineering Work-Integrated Learning (K-Engineering WiL) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาศักยภาพนักศึกษา ให้มีสนามจริงฝึกประสบการณ์และสำเร็จการศึกษาออกมาเป็นบุคลากรคุณภาพของอุตสาหกรรมเกษตรไทย

จากการที่กลุ่มมิตรผล ได้สัมภาษณ์นักศึกษาหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมระบบอุตสาหกรรมการเกษตร (ต่อเนื่อง) ภาควิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. มีนักศึกษาผ่านการคัดเลือกจำนวน 9 คน ได้เข้าเรียนรู้และปฎิบัติงานจริงใน 7 โครงการ 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น สุพรรณบุรี เลย กาฬสินธ์ อำนาจเจริญ และชัยภูมิ มีระยะเวลาปฏิบัติงาน 11 เดือน ระหว่างเดือนพฤษภาคม 2567 - มีนาคม 2568 โดยกลุ่มมิตรผลดูแลค่าตอบแทน รวมถึงสวัสดิการต่างๆ ซึ่งคาดว่าใช้งบประมาณ 2 ล้านบาท พร้อมกับมีพี่เลี้ยงผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดเพื่อให้สามารถเชื่อมโยงความรู้ทั้งทฤษฎีและการปฏิบัติ นำเสนอผลสะท้อนการปฏิบัติงานในรูปแบบของโครงงานการบริหารเทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามาปรับใช้ เช่น การนำข้อมูล GIS ภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อการพัฒนางานเครื่องจักรกลเกษตร, โครงการพัฒนาปรับปรุงรูปแบบการให้น้ำอัตโนมัติ Lora, การพัฒนาระบบชลประทานเพื่อเพิ่มผลผลิต เป็นต้น นอกจากนี้นักศึกษาทุกคนจะได้เข้าเรียนชุดวิชา "ผู้ผลิตอ้อยสมัยใหม่แบบครบวงจร หรือ Mitr Phol ModernFarm ซึ่งคิดค้นโดยสถาบันมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม (Mitr Phol ModernFarm Academy: MFA) และร่วมยกระดับการพัฒนาและรับรองหลักสูตร ประเภท Non-Degree กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. เพื่อเรียนรู้และฝึกอบรมการทำไร่อ้อยสมัยใหม่และการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรที่ถูกต้อง”

รศ.ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
 กล่าวทิ้งท้ายว่า การส่งนักศึกษา “โครงการ K-Engineering Work-integrated Learning (K-Engineering WiL)” ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. เข้าเรียนรู้ประสบการณ์จริงกับกลุ่มมิตรผลในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญของโครงการ และจะยังมีความร่วมมือเช่นนี้กับบริษัทชั้นนำของประเทศอีกหลายบริษัท เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเรียนรู้และการทำงาน ส่งต่อบุคลากรที่มีคุณภาพ สามารถออกไปทำงานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสู่ภาคอุตสาหกรรมต่อไป

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม งานวิชาการปริญญาตรีคณะวิศวกรรมศาสตร์

โทร. 02-329-8301 ต่อ 201 หรือ 082-986-1356, 084-143-5693, 063-902-7127

Facebook – Undergraduate Academic Affairs, KMITL. E-mail: ug_eng@kmitl.ac.th

ไม่มีความคิดเห็น

รูปภาพธีมโดย mevans. ขับเคลื่อนโดย Blogger.