ห่วง!!! Covid-Somnia ยอดคนไทยนอนไม่หลับจากความเครียดพุ่งศูนย์นิทราเวช รพ.จุฬาลงกรณ์จัดให้ความรู้ตลอดสัปดาห์ กับ “จุฬาฯ สัปดาห์วันนอนหลับโลก 2565”

วันนี้ (7 มีนาคม 2563) ศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสมาคมโรคจากการนอนหลับแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรม จุฬาฯ สัปดาห์วันนอนหลับโลก CHULA WORLD SLEEP DAY 2022: Quality Sleep, Sound Mind, Happy World  ภายใต้แนวคิด “นอนดีมีวินัย สร้างโลกสดใส จิตใจแข็งแรง” เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาด้านการนอนหลับและความสำคัญของการนอนหลับที่มีคุณภาพให้กับประชาชน ณ ชั้น 14 ระเบียงรมณีย์ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

 รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การนอนเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของสุขภาพที่แข็งแรง และเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ร่างกายของคนเราจะได้หยุดพักและฟื้นฟู ซ่อมแซม และปรับสมดุลต่างๆ แต่หลายคนกลับมองข้าม และไม่ให้ความสำคัญกับการนอนหลับเท่าที่ควร ก่อให้เกิดปัญหาจากการนอนหลับซึ่งอาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาหลายอย่างด้วยกันด้วยความสำคัญของการนอนหลับดังกล่าว สมาคมการแพทย์เพื่อการนอนหลับโลก (The World Association of Sleep Medicine : WASM) จึงได้กำหนดจัดกิจกรรม “วันนอนหลับโลก : World Sleep Day ขึ้นในวันศุกร์ก่อนวันวิษุวัตในช่วงเดือนมีนาคมของทุก ๆ ปี ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2565 (วันวิษุวัต หมายถึงวันที่มีระยะเวลากลางวันเท่ากับกลางคืน) เพื่อให้ประชากรโลกได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของการนอนหลับอย่างมีคุณภาพ การให้ความสำคัญกับปัญหาการนอนหลับ ซึ่งถ้าหากไม่เร่งแก้ไขก็อาจกลายเป็นปัญหาเรื้อรังทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตได้ 
สำหรับปีนี้ศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสมาคมโรคจากการนอนหลับแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรม จุฬาฯ สัปดาห์วันนอนหลับโลกภายใต้แนวคิด Quality Sleep, Sound Mind, Happy World “นอนดีมีวินัย สร้างโลกสดใส จิตใจแข็งแรง”เพื่อเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนได้ตระหนักถึงปัญหาของการนอนหลับ โดยเฉพาะปัญหาการนอนหลับที่อาจเกิดจากความเครียดหรือความวิตกกังวล พร้อมส่งเสริมให้มีการจัดการปัญหาภาวะการนอนหลับอย่างตรงจุด ดังนั้นการทำให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องของการนอนหลับ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยป้องกันดูแลตนเองและคนภายในครอบครัวให้มีคุณภาพการนอนที่ดี เพื่อเป็นการป้องกันและลดความเสี่ยงของโรคอื่น ๆ ตามมา
ศ.นพ.ณัฐพงษ์ เจียมจริยธรรม หัวหน้าศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า การนอนหลับเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ อาการผิดปกติจากการนอน อาจส่งผลกระทบถึงการทำงาน การตอบสนองต่าง ๆ การสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย อีกทั้งยังส่งผลถึงด้านสุขภาพจิตอีกด้วย ดังนั้น ศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จึงได้จัดกิจกรรมวันนอนหลับโลกมาอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการนอน โดยในปีนี้ จะให้ความสำคัญกับประเด็นที่สังคมให้ความสนใจและควรมีความรู้ที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้สมุนไพรต่าง ๆ ในการช่วยให้นอนหลับ หรือการเพิ่มขึ้นของกลุ่มอาการ Covid-Somnia สัญญาณอันตรายโรคนอนไม่หลับ ที่เกิดจากความวิตกกังวลที่เพิ่มขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 
สำหรับกิจกรรม จุฬาฯ สัปดาห์วันนอนหลับโลก ในปีนี้ มีการแสดงนิทรรศการภาพเคลื่อนไหวให้ความรู้เรื่องการนอนหลับ ความผิดปกติของการนอนหลับในรูปแบบต่าง ๆ และการจัดการปัญหาการนอนหลับอย่างถูกวิธี ตลอดทั้งสัปดาห์ ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 7 - วันศุกร์ที่ 11 มีนาคม 2565 ณ ชั้น 14 ระเบียงรมณีย์ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  และมีการให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการนอนให้กับประชาชนผ่านงานเสวนาโดยจะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 12 มีนาคม 2565 ณ ห้องประชุม 1210 ชั้น 12 โซนบี อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ตั้งแต่เวลา 08.30-15.10 น. สามารถลงทะเบียนฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย โดยรับจำนวนจำกัดเพียง 100 ที่นั่ง ทั้งนี้สามารถรับชม FB Live ได้ที่ FB Fanpage ศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เพื่อให้ประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ และรู้จักประโยชน์ของนอนหลับ แลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องการนอนหลับและแนะนำการนอนหลับที่ถูกวิธีเพื่อสุขภาพที่ดีต่อไป 
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือแจ้งยืนยันการลงทะเบียนได้ที่ 061 862 4269 หรือ Line @cuworldsleepday

ไม่มีความคิดเห็น

รูปภาพธีมโดย mevans. ขับเคลื่อนโดย Blogger.