สสว. เร่งขึ้นทะเบียนสมาชิก สสว. เพื่อเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ

การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ นับเป็นโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จากข้อมูลในระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-GP) ของกรมบัญชีกลาง พบว่า ตลาดนี้มีมูลค่าสูงถึง 1.3 ล้านล้านบาท แต่ที่ผ่านมาเอสเอ็มอี สามารถเข้าถึงได้น้อย ซึ่งจากจำนวนเอสเอ็มอี ที่เป็นนิติบุคคลซึ่งมีกว่า 7 แสนราย มีผู้ประกอบการที่สามารถเข้าสู่ระบบ โดยร่วมยื่นข้อเสนอโครงการได้เพียง 61,956 ราย หรือเพียง ร้อยละ 8.84

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เปิดเผยว่า จากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 1 กันยายน 2563 ได้อนุมัติร่างกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน ตามที่กรมบัญชีกลางเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน โดยให้รับความเห็นจากสสว. ไปประกอบการพิจารณา เพื่อให้สอดคล้องกับประเภทธุรกิจ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. 2543 ซึ่งกำหนดไว้ 4 ประเภท ได้แก่ กิจการผลิตสินค้า กิจการให้บริการ กิจการค้าส่ง กิจการค้าปลีก ทั้งนี้ในส่วนของรายการสินค้า ควรปรับเปลี่ยนเป็น "รายการสินค้าหรือบริการ" เพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างทางธุรกิจของผู้ประกอบการ SME และสอดคล้องกับประเภทการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ คือ จ้างทำของ หรือจ้างเหมาบริการทั้งนี้ ในร่างกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว ได้กำหนดมาตรการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้ง่ายขึ้น โดยกำหนดให้หน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศจะต้องกำหนดโควต้าจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการจาก SME ไม่น้อยกว่า 30% ของวงเงินในหมวดรายการสินค้าหรือบริการที่กำหนด ซึ่งหน่วยงานภาครัฐจะต้องคัดเลือกจากผู้ประกอบการภายในจังหวัดก่อน หากไม่มีในจังหวัดจึงคัดเลือกจากผู้ประกอบการจากภายนอกจังหวัดได้ รวมทั้งให้แต้มต่อกับเอสเอ็มอีที่เสนอราคาสูงกว่าราคาต่ำสุดได้ 10% ในกรณีที่ใช้วิธีe-Bidding ที่ใช้เกณฑ์ราคาต่ำสุด
สำหรับผู้ประกอบการที่จะได้รับสิทธิประโยชน์นี้ จะต้องเป็นเอสเอ็มอีที่ขึ้นทะเบียนบัญชีสมาชิกกับ สสว. ผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ www.sme.go.th หรือ ที่ศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจร (SME One-Stop Service center : OSS) ซึ่งมีสาขาอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยต้องเข้าหลักเกณฑ์ของ สสว. โดยมีคุณสมบัติเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดย่อย (Micro Enterprise) วิสาหกิจขนาดย่อม (Small Enterprise) ตามนิยามของ สสว. โดยพิจารณาจากเกณฑ์รายได้
“หลังจากนี้ สสว. จะเร่งดำเนินการเพื่อให้ทันต่อการจัดซื้อจัดจ้างในปีงบประมาณ 2564 ทั้งนี้ นอกจากนี้ สสว. ได้จัดประชุมเตรียมความพร้อมและขอความอนุเคราะห์ หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานกองทุนงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่ง ประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย สภาเกษตรกรแห่งชาติ สมาคมภาคเอกชนต่างๆ จำนวน 22 หน่วยงาน จัดส่งรายชื่อผู้ประกอบการและรายการสินค้าหรือบริการ มายังสสว. เพื่อทำการตรวจสอบ คัดกรองและจัดหมวดหมู่ข้อมูลก่อนนำเข้าสู่ระบบบัญชีรายชื่อส่วนรายละเอียดต่าง ๆ นั้น สสว. จะเปิดเผยในระหว่างการแถลงข่าวในวันที่ 22 ก.ย. 2563 เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้รับทราบต่อไป” นายวีระพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย

ไม่มีความคิดเห็น

รูปภาพธีมโดย mevans. ขับเคลื่อนโดย Blogger.