GSTC สูตรสำเร็จท่องเที่ยวยั่งยืน อพท.เล็งขยายผลคุมพื้นที่ทั่วประเทศ

ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รักษาการผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท
ความสำเร็จของจังหวัดสุโขทัย ที่ได้รับคัดเลือกเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์(Creative Cities Network) สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (Crafts and Folk Art) ประจำปี 2562 จากโครงการ‘เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก’ (UNESCO Creative Cities Network หรือ UCCN) ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก น่าจะเป็นสิ่งยืนยันได้ว่า องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.ประสบความสำเร็จอย่างมากจากการดำเนินงานให้ตอบโจทย์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนนั่นเป็น เพราะว่า การท่องเที่ยวถือเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มมูลค่า และสร้างความยั่งยืนให้ชุมชนจากนโยบายการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนให้เข้มแข็ง และสามารถจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืน เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ตอบโจทย์กระแสการท่องเที่ยวยุคใหม่ที่ต้องการสัมผัสประสบการณ์ท่องเที่ยวท้องถิ่นที่จริงแท้ หรือ Local Experiences พร้อมขยายผลพัฒนาเครือข่ายชุมชนท่องเที่ยวคุณภาพจากระดับท้องถิ่นสู่ระดับชาติ มีเป้าหมายให้กระจายรายได้จากการท่องเที่ยวสู่เศรษฐกิจฐานรากอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ที่สำคัญมุ่งผลักดันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและรักษาสิ่งแวดล้อมของสถานที่ท่องเที่ยวให้ยั่งยืน 
ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รักษาการผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า เกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ Global Sustainable Tourism Criteria(GSTC) จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนอย่างบูรณาการในชุมชนตนเองด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น อพท.จึงใช้เกณฑ์ GSCT เป็นกรอบในการพัฒนาพื้นที่พิเศษ และพื้นที่ที่ได้รับมอบหมายให้เกิดความยั่งยืนด้านการท่องเที่ยวโดยในเบื้องต้นได้เชิญภาคีเครือข่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนร่วมรับฟังความคิดเห็น และร่วมกันวางแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่ ให้มีศักยภาพตามเกณฑ์ GSTC โดยจะกำหนดเป็นแผนงานและวางระบบการบริหารจัดการการท่องเที่ยว ที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถด้านการท่องเที่ยว
ชู 4 มิติธงนำสู่งความยั่งยืน
ทั้งนี้ GSTC ถือเป็นกลไกสำคัญ ที่จะนำพื้นที่และชุมชนก้าวสู่ความยั่งยืน ประกอบด้วย 4 มิติ ได้แก่ มิติด้านการบริหารจัดการความยั่งยืนในแหล่งท่องเที่ยวซึ่งรวมถึงความปลอดภัยด้วย มิติด้านสังคม-เศรษฐกิจ เพราะการท่องเที่ยวต้องไม่ใช่แค่สร้างรายได้ และต้องสร้างสังคมด้วย เช่น ความสามัคคี มิติด้านวัฒนธรรม และมิติทางด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
“อพท. ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวด้วยเกณฑ์ GSTC ให้ทุกภาคส่วนเข้าใจตรงกัน ซึ่งเกณฑ์ GSTC เป็นแนวทางดำเนินงานที่ อพท. จะนำไปปรับใช้กับทุกพื้นที่พิเศษ และในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวทั่วประเทศ เพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานในจัดการแหล่งท่องเที่ยว ให้เกิดความยั่งยืน มีมาตรฐานระดับสากล ซึ่งจะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ และจะช่วยให้ภาคีได้เข้าใจถึงกลไกการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และมีแนวทางดำเนินการตามเกณฑ์ GSTC”
เล็งส่ง“น่าน” “สุพรรณบุรี”ชิงเมืองสร้างสรรค์ปี 64
ดร.ชูวิทย์กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2564 อพท.อยู่ระหว่างผลักดันให้ต.ในเวียง อ.เมือง จ.น่าน เป็นเมืองสร้างสรรค์ ด้านหัตถกรรมพื้นบ้าน (Craft and Folk Arts) โดยร่วมมือกับภาคีเครือข่าย อาทิ กรมทางหลวง ซึ่งจะไปพัฒนาและสร้างบรรยากาศในด้านหัตถกรรม ปรับปรุงศาลากลางหลักเก่าให้เป็นพิพิธภัณฑ์ เป็นศูนย์เรียนรู้ทางวัฒนธรรม ล้านนาตะวันตก เป็นพื้นที่สำหรับเด็กรุ่นใหม่ที่จะนำแสนแนวคิด หรือไอเดียใหม่ ๆ ในการเรื่องออกแบบ
รวมถึงจะผลักดันให้จ.สุพรรณบุรี เป็นเมืองสร้างสรรค์ ด้านดนตรี เพราะเป็นเมืองที่มีความพร้อม มีความโดดเด่น ในเรื่องเพลงพื้นบ้านที่หลากหลาย อาทิ เพลงฉ่อย เพลงอีแซว หรือเพลงร่วมสมัยอื่นๆ ที่ได้รับการส่งต่อและประยุกต์จากรุ่นสู่รุ่น ถูกถ่ายทอดโดยศิลปินคนท้องถิ่นของสุพรรณบุรี ผลิตศิลปินเพลงพื้นบ้าน เพลงป๊อบ เพลงร็อก เพลงเพื่อชีวิต อาทิ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ พุ่มพวง ดวงจันทร์ และแม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ (นางเกลียว เสร็จกิจ) ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงพื้นบ้าน-อีแซว) ปี 2539 ครูจิราภรณ์ ตูน บอดี้ สแลม โดยร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ชุมชน และประชาชน
นอกจากนี้ ในปีนี้ อพท. ได้เตรียมส่งแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบ 2 แหล่ง คือเทศบาลต.เชียงคาน อ.เชียงคาน จ.เลย และต.ในเวียง อ.เมืองน่าน จ.น่าน เข้าชิงรางวัล Sustainable Destinations Top 100 หรือ Top 100 ภายในปี 2565 โดยการจัดอันดับดังกล่าวเป็นตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรมที่สุด แสดงถึงความสำเร็จจากผลการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืน
ขณะเดียวกัน ยังมีแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษอีก 4 แห่ง ที่ อพท. จะพัฒนามาตรฐานเพื่อส่งเข้ารับการจัดอันดับ Top 100 ในระยะต่อไป ได้แก่ นาเกลือ ในเขตเมืองพัทยา จ.ชลบุรี ต.เมืองเก่า จ.สุโขทัย เกาะหมาก จ.ตราด และต.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี
ปั้น “นาเกลือ”เข้า Top 100
โดยพื้นที่ “นาเกลือ”มีความพร้อมของสถานที่ มีสถาปัตยกรรมที่งดงาม มีพื้นที่สีเขียว มีกลิ่นอายของความดั้งเดิม มีอาหาร มีตลาด มีงานเดินกินถิ่นนาเกลือ มีการกระจายรายได้
สำหรับ รางวัล Top 100 จะมาตอบข้อสงสัยในเรื่องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่สามารถจับต้องได้ เนื่องจากรางวัลดังกล่าวมีเกณฑ์การวัดที่ชัดเจน ถึงแหล่งท่องเที่ยวที่เข้าข่ายได้รับการจัดอันดับ ที่จะต้องผ่านเกณฑ์ต่างๆ โดยจะวัดผลทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ เช่นการทำงานอยู่ในงบประมาณ ทรัพยากร และเวลาอันจำกัด จะมีขั้นตอนของการจัดลำดับการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
สำหรับประโยชน์ในเชิงการตลาดของแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับการจัดอันดับ Top 100 ว่า สร้างการรับรู้ในแบรนด์ของแหล่งท่องเที่ยวนั้นในตลาดต่างประเทศ เช่น ถ้าแหล่งท่องเที่ยวที่ส่งเข้าชิงได้รับการจัดอันดับ Top 100 ทางผู้จัดงานมหกรรมท่องเที่ยวนานาชาติ ITB ก็จะนำแหล่งท่องเที่ยวดังกล่าวไปทำการตลาดให้ฟรีผ่านเครือข่ายสมาชิกของ ITB ที่มีอยู่ทั่วโลก โดยคัดเลือกนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีการใช้จ่ายต่อทริปในจำนวนที่สูง
ไม่เพียงแค่นี้ แต่คงต้องจับตา อพท.ภายใต้การนำทัพ ของดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รักษาการผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.จะเข้มข้นมากน้อยแค่ไหน และผลักดันให้การท่องเที่ยวในเมืองไทยขึ้นสู่ระดับมาตรฐานสากลเทียบชั้นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกได้อย่างไร


ไม่มีความคิดเห็น

รูปภาพธีมโดย mevans. ขับเคลื่อนโดย Blogger.