วธ.เปิดเส้นทางสักการะพระธาตุประจำปีเกิด หนุน soft power ผ่านเส้นทางท่องเที่ยวบนฐานศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก สร้างรายได้ชุมชน และประเทศ

 เย็นวันที่ 27 มกราคม 2567 ณ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมตามรอยเส้นทางธรรมแห่งศรัทธา : เส้นทางสักการะพระธาตุประจำปีเกิด ภายใต้โครงการจาริกเส้นทางบุญในมิติทางศาสนา โดยมี พระพรหมเสนาบดี เจ้าคณะภาค ๗ และพระเทพสิงหวราจารย์  เจ้าอาวาสวัดพระสิงห์ นายสุรพล เกียรติไชยากร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายชัยพล  สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนานายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ วัฒนธรรมจังหวัดภาคเหนือ หัวหน้าส่วนราชการ เครือข่ายทางวัฒนธรรม สื่อมวลชน นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติเข้าร่วมงาน 


กระทรวงวัฒนธรรมมีนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนฐานราก ด้วยมิติทางวัฒนธรรม มุ่งเน้นนำ Soft Power ของท้องถิ่นมานำเสนอผ่านเส้นทางท่องเที่ยวบนฐานของศาสนาและวัฒนธรรม เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดการจ้างงานและส่งเสริมการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมในท้องถิ่น ช่วยสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ พร้อมสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเสริมสร้างรายได้ให้ประเทศ กระทรวงวัฒนธรรมโดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่จึงได้บูรณาการความร่วมมือกับจังหวัดเชียงใหม่จัดกิจกรรมตามรอยเส้นทางธรรมแห่งศรัทธา : เส้นทางสักการะพระธาตุประจำปีเกิดขึ้น เนื่องจากจังหวัดเชียงใหม่ มีพระธาตุประจำปีเกิดถึง 5 แห่ง และมีศาสนสถานโบราณสถาน โบราณวัตถุ แหล่งท่องเที่ยว ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ล้ำค่า สืบทอดมาตั้งแต่โบราณ





โดย กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ได้เล็งเห็นศักยภาพของเมืองเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีความพร้อม จึงได้จัดกิจกรรมตามรอยเส้นทางธรรมแห่งศรัทธา : เส้นทางสักการะพระธาตุประจำปีเกิดขึ้น  โดยคัดเลือกพระธาตุประจำปีเกิดซึ่งทรงคุณค่าและมีความสำคัญต่อพุทธศาสนิกชนในพื้นที่ กำหนดเป็นเส้นทางสักการะพระบรมธาตุประจำปีเกิด จำนวน 5 วัด ได้แก่ วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร พระธาตุประจำปีเกิดปีชวด ,วัดพระธาตุดอยสุเทพ พระธาตุประจำปีเกิด ปีมะแม ,วัดพระสิงห์ พระธาตุประจำปีเกิดปีมะโรง ,วัดเกตุการาม พระธาตุประจำปีเกิดปีจอ และวัดเจ็ดยอด พระธาตุประจำปีเกิดปีมะเส็ง 





สำหรับการจัดงานในครั้งนี้จะประกอบด้วย การแสดงฟ้อนบูชามหาเจดีย์ธาตุ (พระธาตุหลวง) การแสดงแสง สี เสียง และศิลปวัฒนธรรม จากเครือข่ายทางวัฒนธรรม อาทิ การแสดงชุดเล่าขานตำนานพระพุทธสิหิงค์ และตำนานพระธาตุหลวงวัดพระสิงห์ นอกจากนี้ ได้จัดให้มีการห่มผ้าพระมหาธาตุเจดีย์ธาตุ (พระธาตุหลวง) เพื่อความเป็นสิริมงคลอีกด้วย








ไม่มีความคิดเห็น

รูปภาพธีมโดย mevans. ขับเคลื่อนโดย Blogger.