รมว.วธ. “เสริมศักดิ์” มอบกรมศิลปากร ลงพื้นที่ – ศึกษากระทบและหาแนวทางลดผลกระทบต่อโบราณสถาน - วางแผนปรับปรุงภูมิทัศน์ให้เหมาะสม กรณีชาวบ้านร้องเรียนก่อสร้างโรงงานน้ำตาลขนาดใหญ่ใกล้โบราณสถานในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว

 

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2566 นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า จากกรณีชาวบ้านร้องเรียนให้กรมศิลป์ โดยสำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี ซึ่งดูแลรับผิดชอบปราสาทบ้านน้อยและโบราณสถานขอม ในพื้นที่บ้านห้วยพะใย ตำบลผักขะ อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว ดำเนินการตรวจสอบการออกหนังสือรับรองให้ก่อสร้างโรงงานน้ำตาลขนาดใหญ่ที่มีกำลังการผลิตอ้อย 20,400 ตันต่อวัน และโรงงานผลิตไฟฟ้าขนาด 84 เมกะวัตต์ เนื่องจากโรงงานดังกล่าวอยู่ห่างจากปราสาทบ้านน้อย และโบราณสถานขอม ระยะห่างไม่ถึง 1 กิโลเมตร รวมทั้งในรายงาน (EIA) ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ยังไม่มีการกล่าวถึงผลกระทบต่อตัวปราสาทนั้น ตนได้รับรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง  เรื่องดังกล่าวจากกรมศิลปากรว่า บริษัทเทคนิคสิ่งแวดล้อมไทยจำกัด เคยมีหนังสือเชิญสำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี เข้าร่วมประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นในการจัดทำร่างรายงานและมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการโรงงานผลิตน้ำตาลของบริษัท น้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลี จำกัด เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2564 

“ในการประชุมดังกล่าวกลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรีได้เข้าร่วมตรวจสอบและพบว่า  มีโบราณสถานในรัศมี 500 เมตรในพื้นที่โครงการ จำนวน 1 แห่ง คือปราสาทบ้านน้อยห้วยพะใย และพบว่าบริษัทฯ ยังไม่ได้ดำเนินการสำรวจเพื่อประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางด้านโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี จึงมีหนังสือที่ วธ 0415/246 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 ถึงกรรมการผู้จัดการบริษัทดังกล่าวเพื่อให้สำรวจผลกระทบทางด้านโบราณคดี โดยนักโบราณคดีทั้งในพื้นที่และรอบพื้นที่โครงการฯ และหากดำเนินการแล้วเสร็จขอให้ส่งรายงานให้กรมศิลปากรพิจารณาต่อไป ทั้งนี้กรมศิลปากรยังได้ย้ำกับบริษัทฯ ถึงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบด้านโบราณสถาน เนื่องจากระยะห่างของโบราณสถานและสถานที่ตั้งโรงงานอาจส่งผลกระทบด้านสุนทรียภาพและการท่องเที่ยว รวมถึงด้านสาธารณสุขชุมชนและสิ่งแวดล้อม โดยขอให้มีการศึกษาผลกระทบด้านโบราณสถานอย่างจริงจัง และให้เป็นไปตามมาตรฐาน  ดังนั้นตามที่เป็นข่าวว่าสำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี ที่ดูเเลรับผิดชอบโบราณสถายในพื้นที่จังหวัดสระเเก้ว ออกหนังสือรับรองให้มีการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลจึงไม่เป็นความจริง เพราะทางสำนักศิลปกรที่ 5 ได้ดำเนินการท้วงติงการทำ EIA ที่ไม่มีข้อมูลผลกระทบต่อโบราณสถานดังกล่าวไปเเล้ว” 

นายเสริมศักดิ์ กล่าวว่า ได้รับรายงานอีกว่า จากการสอบถามปรากฏว่าบริษัทไม่ได้ดำเนินการ ตามข้อเสนอดังกล่าว โดยทราบว่ารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับสมบูรณ์ของโครงการดังกล่าว ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม แล้วเมื่อ 1 กันยายน 2565 “โครงการดังกล่าวได้ผ่านขั้นตอนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้วโดยไม่มีการศึกษาผลกระทบต่อโบราณสถานตามข้อเสนอกรมศิลปากร อย่างไรก็ตาม กรมศิลปากรยังยืนยันในภารกิจสำคัญที่จะดูแล ปกป้อง โบราณสถานของชาติอย่างดีที่สุด โดยกระทรวงวัฒนธรรมจะมอบหมายให้กรมศิลปากรประสานโรงงาน ฯ หาแนวทางที่เหมาะสมเพื่อลดผลกระทบ  ที่เกิดขึ้นกับโบราณสถานโดยจะดำเนินการส่งเจ้าหน้าที่ในสาขาที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านโบราณคดี และภูมิสถาปัตยกรรมลงพื้นที่โดยด่วน” นายเสริมศักดิ์ กล่าว 

----------------------

ไม่มีความคิดเห็น

รูปภาพธีมโดย mevans. ขับเคลื่อนโดย Blogger.