มส.ผส. - สสส. สานพลังสร้างนวัตกรรมคุ้มครองสังคมสูงวัย ผลักดันบำนาญถ้วนหน้า เดินหน้าพัฒนาฝีมือแรงงาน สร้างหลักประกันทางเศรษฐกิจ เพิ่มคุณภาพชีวิต สู่สังคมสูงวัยที่มีความสุขอย่างยั่งยืน


ในงานเปิดคลังความรู้ มส.ผส. และ สสส. ประจำปี 2566 หัวข้อ “การสร้างหลักประกันความมั่นคงทางเศรษฐกิจสำหรับผู้สูงอายุ สู่สังคมสูงวัยที่มีความสุขอย่างยั่งยืน”ที่มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดขึ้นที่โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชัน เพื่อสร้างนวัตกรรมและงานนโยบายสาธารณะ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุไทยรอบด้าน รวมถึงสร้างเครือข่าย เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยน เรียนรู้ สร้างความตระหนักให้สาธารณะ สู่การเตรียมพร้อมรองรับสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ (complete aged society) และสังคมสูงอายุระดับสุดยอด (super-aged society)


โดยมี นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย เป็นประธานพิธีเปิด และ นายชวน หลีกภัย อดีตประธานรัฐสภา ปาฐกถาพิเศษ “สังคมสูงวัย สังคมของคนทุกวัย” 


ในงานมีกิจกรรมส่งเสริมพฤฒพลังผู้สูงอายุ (Active Aging) ให้ผู้สูงอายุพึ่งพาตนเองได้และใช้ศักยภาพของตนเพื่อทำประโยชน์แก่สังคมส่วนรวม สร้างงาน สร้างอาชีพ เช่น สอนทำของว่างและเครื่องดื่ม อย่างเมนูแซนด์วิช เพื่อสุขภาพ, สลัดโรล, สมูทที สอนแต่งรูปเพื่อการขายของออนไลน์ และแอปพลิเคชันตกแต่งรูปภาพ ที่เหมาะแก่ผู้สูงวัย 


ดร.นพ.ภูษิต ประคองสาย เลขาธิการ มส.ผส. กล่าวว่า จากรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย ปี 2565 ไทยมีประชากร 66 ล้านคน ในจำนวนนี้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 13 ล้านคน คิดเป็น 19% ถือว่าไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Completed Aged Society) 




ในปี 2576 ไทยจะมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 28% อายุ 65 ปีขึ้นไป 20% ไทยจึงอยู่ในสภาวการณ์มีผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งกระทบต่อการยกระดับความสามารถศักยภาพการแข่งขัน และการพัฒนาประเทศ ระดับมหภาค ระดับจุลภาค ได้แก่ ผลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) รายได้ต่อหัวประชากร การออม การลงทุน งบประมาณของรัฐบาล การคลัง ผลิตภาพแรงงาน การจ้างงาน ผลต่อตลาดผลิตภัณฑ์บริการด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านการเงินและสุขภาพ 


“ผลการศึกษาวิจัย และงานวิชาการที่ผ่านมาของ มส.ผส. และ สสส. พบว่า องค์ความรู้ที่เป็นรูปธรรม อาทิ กลไกการทำงาน ผลงานเชิงนวัตกรรม รูปแบบ เครื่องมือ และวิธีการทำงาน ที่ทำงานได้จริงในระดับพื้นที่ เกิดการขับเคลื่อนระดับนโยบายได้ในเชิงประจักษ์ หากมีการรวบรวม วิเคราะห์ และสังเคราะห์ให้เป็นบทเรียนที่ดี จะสามารถเป็นตัวอย่างการนำไปใช้ได้อย่างเป็นประโยชน์ เป็นโอกาสสำคัญในการผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายสู่องค์กรหลักที่เกี่ยวข้อง ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน โดยการสร้างหลักประกันความมั่นคงทางเศรษฐกิจสำหรับผู้สูงอายุ พัฒนาระบบบำนาญแห่งชาติ และการสนับสนุนให้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นบำนาญถ้วนหน้า มีอัตราการจ่ายที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน จากงานวิจัยชี้ให้เห็นว่า การมีบำนาญถ้วนหน้าจะช่วยยกระดับให้เกิดหลักประกันทางรายได้นอกจากนี้การออมยามเกษียณ การสร้างโอกาสทำงาน พัฒนาทักษะ (Up skill, Re-Skill) สร้างรายได้ให้ผู้สูงอายุในชุมชน ทำให้เกิดความมั่นคงทางรายได้ของผู้สูงอายุ” ดร.นพ.ภูษิต กล่าว”


นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า การสร้างการมีส่วนร่วมทางสังคม รองรับสังคมสูงวัยที่มีสุขอย่างยั่งยืน สสส. สานพลังภาคีเครือข่าย พัฒนาระบบรองรับ เตรียมความพร้อมก่อนวัยสูงอายุ รวมถึงขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่  4 มิติ คือ สุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อม 


โดยใช้ข้อมูลความรู้จากงานวิชาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาขับเคลื่อนในมิติต่างๆ เช่น มิติสุขภาพ การสร้างความตระหนักรู้ด้านสุขภาพ และชุดความรู้ สนับสนุนการพัฒนาระบบดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม เสริมความเข้มแข็งของร่างกายเพื่อป้องกันการผลัดตกหกล้ม มิติเศรษฐกิจ สร้างความมั่นคงทางรายได้ สร้างโอกาส เพิ่มทักษะ สร้างรายได้ มิติสังคม ส่งเสริมการสร้างความเข้มแข็งของชมรมผู้สูงอายุ เพิ่มพื้นที่ทำกิจกรรม เสริมทักษะด้านเทคโนโลยี ระบบเรียนรู้ออนไลน์ และใช้ในกิจกรรมโรงเรียนผู้สูงอายุ การจัดตั้งธนาคารเวลารองรับสังคมสูงวัย มิติสภาพแวดล้อม เกิดการปรับสภาพแวดล้อม และจัดสิ่งอำนวยความสะดวกในที่พักอาศัย และสถานที่สาธารณะ ซึ่ง สสส. และภาคีเครือข่าย คาดหวังให้ระบบรองรับสังคมสูงวัย ที่ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมาสอดรับกับนโยบายภาครัฐ เกิดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม และทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี 

ไม่มีความคิดเห็น

รูปภาพธีมโดย mevans. ขับเคลื่อนโดย Blogger.