ยอดขายอาหารทะเลจากนอร์เวย์ทุบสถิติในไตรมาส 3/2564 ผลพวงจากการเปิดประเทศแม็คโครนำทัพด้วยปริมาณการนำเข้าสูงที่สุดในประเทศไทย

กรุงเทพฯ 3 ธันวาคม 2564 – จากการเริ่มทยอยเปิดประเทศ ทำให้ธุรกิจร้านอาหารและโรงแรมในประเทศไทยกลับมาคึกคักอีกครั้ง ส่งผลให้ยอดการนำเข้าอาหารทะเลจากนอร์เวย์เติบโตแบบก้าวกระโดดในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยตั้งแต่เดือนมกราคมถึงตุลาคมปี 2564 ประเทศไทยนำเข้าแซลมอนสดเป็นปริมาณ 14,309 ตัน แซงหน้าตัวเลขทั้งปีของปี 2563 ที่มีการนำเข้าอยู่ที่ 12,700 ตัน ด้านมูลค่าการนำเข้าจนถึงเดือนตุลาคมของปี 2564 อยู่ที่ 3.43 พันล้านบาท มากกว่าปี 2563 ทั้งปี ที่มีมูลค่าอยู่ที่ 2.7 พันล้านบาท ผู้ค้าส่งชั้นนำของไทยอย่าง แม็คโคร มีปริมาณการนำเข้าอาหารทะเลจากนอร์เวย์สูงที่สุดในเดือนตุลาคม 2564 สืบเนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป มีลูกค้ารายบุคคลหันมาซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่แม็คโครมากขึ้น
อัสบีเยิร์น วาร์วิค เรอร์ทเว็ท ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ (NSC) กล่าวว่า “ตลาดอาหารทะเลจากนอร์เวย์ทั่วโลกทั้งในเชิงของสายพันธุ์และผลิตภัณฑ์ ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในไตรมาส 3/2564 ซึ่งนับเป็นไตรมาสที่มีผลประกอบการดีที่สุดตลอดกาล มูลค่าการส่งออกในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 อยู่ที่ 3.15 แสนล้านบาท เติบโตขึ้น 10% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ในเดือนตุลาคมเดือนเดียวมีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 4.5 หมื่นล้านบาท เราเชื่อว่าปี 2564 นี้จะเป็นปีที่มีสถิติการส่งออกอาหารทะเลจากนอร์เวย์ดีที่สุดเป็นประวัติการณ์ ประเทศไทยยังคงเป็นตลาดที่มีการเติบโตที่แข็งแกร่งในภูมิภาคเอเชีย เช่นเดียวกับ จีน และ เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นตลาดที่เทรนด์อาหารทะเลจากนอร์เวย์กำลังมาแรง โดยในปีนี้เราเน้นกระชับความสัมพันธ์กับตลาดในประเทศไทยผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ รวมไปถึงพันธมิตรคู่ค้าต่าง ๆ ตั้งแต่ ผู้ค้าปลีก ร้านอาหาร บริการควิกคอมเมิร์ซ อินฟลูเอนเซอร์ และสื่อ เพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับอาหารทะเลจากนอร์เวย์และวิธีการประกอบอาหารทะเลที่สะอาด ปลอดภัย สะดวกสบายจากที่บ้าน พันธมิตรค้าส่งของเราอย่าง แม็คโคร เองก็ได้เห็นเทรนด์ที่ลูกค้าทั่วไปหันมาซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่สาขามากขึ้น นับเป็นเทรนด์ที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก”
วิกฤตการณ์โควิด-19 ที่ยาวนาน ได้เปลี่ยนพฤติกรรมการเลือกสรรผลิตภัณฑ์อาหารของผู้บริโภค มาตรฐานความปลอดภัยและสุขอนามัยกลายเป็นสิ่งสำคัญอันดับหนึ่ง รวมถึงประเทศที่มาของอาหาร เพราะผู้บริโภคใส่ใจในแหล่งที่มาของอาหารและสุขภาพของตนเองมากขึ้น และปลาก็เป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพที่เหมาะกับอาหารเพื่อสุขภาพที่ได้รับความนิยม ผู้คนหันมาทำอาหารเองที่บ้านหรือซื้ออาหารพร้อมรับประทานมากินที่บ้านมากขึ้น เพื่อลดสัมผัสจากการออกนอกบ้าน ในขณะที่การซื้ออาหารผ่านช่องทางออนไลน์ของร้านค้าหรือช่องทางควิกคอมเมิร์ซนั้นเข้ามาผสานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตวิถีใหม่ได้อย่างลงตัว
นางศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการสื่อสารองค์กร บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “แม็คโคร เป็นผู้นำเข้าปลาแซลมอนสดจากประเทศนอร์เวย์ อันดับ 1 ของประเทศไทย ติดต่อกันมา เป็นเวลาหลายปี ถึงแม้จะมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ความต้องการบริโภคแซลมอนสำหรับคนไทยยังมีความนิยมอย่างต่อเนื่อง โดยแม็คโครตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าทุกกลุ่ม ทั้งผู้ประกอบการร้านอาหาร หรือผู้บริโภคทั่วไป ในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการแล่ปลาสำหรับลูกค้าที่นิยมซื้อยกตัว การขายเป็นชิ้นส่วนต่าง ๆ ตามความนิยมบริโภค หรือจะเป็นแบบแช่แข็ง รมควัน ก็มีให้เลือกมากมาย ซึ่งสิ่งที่ทำให้แซลมอนจากนอร์เวย์เป็นที่ยอมรับจากกลุ่มลูกค้าของเราก็คือ คุณภาพ ความปลอดภัย มาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และระดับราคาที่ทำให้ทุกคนเข้าถึงวัตถุดิบเพื่อสุขภาพ ผู้ประกอบการจำนวนมากจึงมองเห็นโอกาสในการขายเมนูจากแซลมอนจากนอร์เวย์ นอกจากนี้เรายังมีหลายช่องทางในการจำหน่ายแซลมอนจากนอร์เวย์ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เช่น แม็คโครคลิก และแม็คโครแอปพลิเคชั่น”
จึงไม่น่าแปลกใจที่แซลมอนจากนอร์เวย์และนอร์วีเจียนซาบะมีการเติบโตในเชิงมูลค่าที่สูงที่สุดในตลาดประเทศไทยในปี 2564 แซลมอนเป็นปลาที่สามารถนำไปประกอบอาหารได้หลากหลาย ทั้งอาหารตะวันตก เอเชีย หรือแม้กระทั่งไทยเอง และยังคงความเป็นปลายอดฮิตตลอดกาลของคนไทยทั้งที่ร้านอาหารและการบริโภคเองที่บ้าน ในขณะที่นอร์วีเจียนซาบะเริ่มมีอัตราการเติบโตที่น่าสนใจ จากการเป็นเมนูยอดนิยมในร้านอาหารญี่ปุ่น และความเป็นเอกลักษณ์ของปลาที่มีเนื้อฉ่ำ รสชาติเข้มข้น แตกต่างจากซาบะที่มาจากแหล่งอื่นๆ อาหารทะเลจากนอร์เวย์ยังคงครองตำแหน่งที่แข็งแกร่งในตลาดประเทศไทยและทั่วโลก ผู้บริโภคไม่เพียงหันมาประกอบอาหารทะเลเองที่บ้านเท่านั้น แต่ยังเริ่มให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและรสชาติมากขึ้น ซึ่งอาหารทะเลจากนอร์เวย์สามารถตอบโจทย์ตรงส่วนนี้ได้เช่นกัน หากเทรนด์การบริโภคที่บ้านยังทรงตัวแม้ร้านอาหารเริ่มกลับมาเปิดแล้ว อาหารทะเลจากนอร์เวย์ดูน่าจะมีแนวโน้มที่สดใสต่อไป โดยสภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์มีแผนการตลาดที่จะส่งเสริมอาหารทะเลอื่น ๆ รวมไปถึงอาหารทะเลจำพวกเปลือก (Shellfish) ในประเทศไทยในปี 2565 ที่จะถึงนี้ และมุ่งมั่นที่จะรักษามาตรฐานความปลอดภัยของอาหารที่เข้มงวด ผ่านเครื่องหมายการค้า “Seafood from Norway” สัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงแหล่งที่มาของอาหารทะเลคุณภาพจากนอร์เวย์

ไม่มีความคิดเห็น

รูปภาพธีมโดย mevans. ขับเคลื่อนโดย Blogger.