MIS – C อาการในเด็กหลังหายจาก COVID - 19
ภาวะมิสซี MIS-C หรืออาการอักเสบในหลายระบบอย่างรุนแรง เป็นภาวะที่เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 21 ปี ที่รักษา COVID-19 หายแล้ว ซึ่งมีอาการคล้ายกับโรคคาวาซากิเป็นอย่างมาก และหากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้อวัยวะล้มเหลวถึงขั้นเสียชีวิตได้ สำหรับผู้ปกครองแล้ว การรู้สาเหตุและอาการเบื้องต้น จะสามารถช่วยเฝ้าระวังและช่วยให้บุตรหลานได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
นพ.พรเทพ สวนดอก กุมารแพทย์ สาขาโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า MIS-C หรือ Multisystem Inflammatory Syndrome in Children คือภาวะที่มีอาการอักเสบของอวัยวะหลายระบบในร่างกาย เช่น ปอด ไต สมอง ผิวหนัง ตา ทางเดินอาหาร หัวใจและหลอดเลือด และยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดภาวะนี้ แต่จะมีอาการเกิดขึ้นหลังหายจากการติดเชื้อ COVID - 19 แล้ว เป็นภาวะที่พบไม่บ่อย และในบางคนไม่มีอาการแสดงหรือแสดงอาการเพียงเล็กน้อย อาจเริ่มมีอาการได้ ตั้งแต่ระยะที่กำลังจะหายจากโรค หรือ ตามหลังการติดเชื้อประมาณ 2-6 สัปดาห์ มักจะพบในประเทศยุโรป อเมริกาและอินเดีย สำหรับประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วยที่เกิดภาวะนี้ เพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อมากขึ้น ส่วนใหญ่จะเกิดในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง โดยมีอาการที่คล้ายกับโรคคาวาซากิ (Kawasaki disease) เป็นอย่างมาก แต่ภาวะ MIS-C มักพบในเด็กโต อายุเฉลี่ย 10 ปี ซึ่งต่างจากโรคคาวาซากิที่จะพบในเด็กเล็กมากกว่า โดยอาการจะแสดงในหลายระบบร่วมกันคล้ายกับโรคคาวาซากิ คือ มีไข้ ตาแดง มือ เท้าบวมแดง ปากแดง แห้ง แตก ต่อมน้ำเหลืองโต และมีอาการในระบบหัวใจและหลอดเลือด หรือ อาการในระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย ลำไส้อักเสบ ตับอักเสบ และอาการคล้ายไส้ติ่งอักเสบ ทางระบบประสาท คือ ปวดศีรษะ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เมื่อเปรียบเทียบกับโรคคาวาซากิแล้ว ผู้ป่วย MIS-C มักจะมีอาการของกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ บางรายพบระบบหมุนเวียนโลหิตล้มเหลว การทำงานของหัวใจบกพร่อง ไตวายเฉียบพลัน ทำให้มีโอกาสเกิดภาวะช็อกและมีอาการที่รุนแรงมากขึ้น
แพทย์จะทำการวินิจฉัย เพื่อตรวจวิเคราะห์หาสาเหตุที่อาจทำให้เกิดอาการ MIS-C เช่น การตรวจภาพรังสีปอด ตรวจภาพรังสีช่องท้อง การตรวจระบบประสาทและตรวจการทำงานหัวใจ การรักษาโรคต้องอาศัยทีมแพทย์สหสาขา ได้แก่ สาขาโรคติดเชื้อ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคระบบทางเดินหายใจและเวชบำบัดวิกฤติ และอื่นๆ ร่วมวางแผนและรักษาด้วยการลดการอักเสบและป้องกันภาวะแทรกซ้อนระยะยาวในระบบที่เกิดการอักเสบโดยเฉพาะหัวใจและหลอดเลือด ทั้งการรักษาแบบประคับประคองและการให้ยากลุ่มต้านอาการอักเสบ โดยสามารถรักษาและกลับมาหายเป็นปกติได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการในผู้ป่วยแต่ละราย แม้ในปัจจุบันจะยังไม่สามารถทราบสาเหตุการเกิดภาวะนี้ แต่พบว่ามีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อ COVID-19 ดังนั้นการป้องกันการติดเชื้อจึงเป็นวิธีที่ดีสุด คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกน้อยไม่ควรพาเด็กไปในที่ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ รักษาสุขอนามัยและความสะอาดให้กับลูกน้อยเสมอ สำหรับเด็กโตควรสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือให้บ่อย เว้นระยะห่าง เลี่ยงการไปในที่แออัด ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ควรได้รับการฉีดวัคซีน COVID-19
เนื่องจากเด็กที่มีอาการของ MIS-C เกิดขึ้นอาจทำให้ร่างกายอ่อนแอลงได้อย่างรวดเร็วทุกเวลา และอาจส่งผลให้เป็นอันตรายแก่ชีวิตได้ เพราะฉะนั้นหากสงสัยว่าบุตรหลานของท่านเกิดภาวะนี้ ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันทีเพื่อการวินิจฉัย และได้รับการรักษาได้อย่างทันท่วงที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์กุมารเวช รพ.กรุงเทพ โทร.1719 หรือ แอดไลน์ @bangkokhospital
ไม่มีความคิดเห็น