คลินิกสุขภาพเพศ รพ.จุฬาลงกรณ์เพื่อบุคคลข้ามเพศแบบครบวงจรโดยทีมแพทย์สหสาขา

วันนี้( 1 ธันวาคม 2564) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยฝ่ายสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา จัดประชุมวิชาการ MIS.S.Transgender เพื่อมุ่งมั่นพัฒนาความรู้ด้านการวิจัยและการดูแลรักษาผู้รับบริการกลุ่ม Transgender พร้อมทั้งแนะนำต้นแบบ คลินิกสุขภาพเพศ Gender Health Clinic โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย แบบครบวงจร

รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กล่าวว่า โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นโรงเรียนแพทย์คุณธรรม ที่ได้พัฒนาการเรียนการสอนทั้งระดับนิสิตแพทย์จนถึงระดับแพทย์ประจำบ้านต่อยอด และพัฒนาการบริการโดยทีมอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่เป็นผู้นำทางด้านการดูแลสุขภาพในหลายศาสตร์หลายแขนง และมีความพร้อมที่จะประยุกต์การดูแลรักษาให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและศาสตร์ทางการแพทย์ในปัจจุบันและในอนาคต
นับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ฝ่ายสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดตั้ง “คลินิกสุขภาพเพศ หรือ Gender Health Clinic” ขึ้น เพื่อยกระดับการดูแลสุขภาพของบุคคลข้ามเพศรวมทั้งผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศให้สามารถเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ได้อย่างครบวงจร
ภายใต้การดูแลจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่สหสาขา ทั้งสูติ-นรีแพทย์ อายุรแพทย์ ศัลยกรรมตกแต่ง ศัลยกรรรมทั่วไป กุมารแพทย์ และจิตแพทย์ อีกทั้งยังเป็นแหล่งความรู้สำหรับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์และเป็นศูนย์รวมด้านวิจัยในหลายแขนง เพื่อหาคำตอบสำหรับคำถามที่ยังมีอีกมากมายทางด้าน LGBTQผมในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาลและคณบดีคณะแพทยศาสตร์ รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ทุกระดับมีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนทั้งทางด้านบริการ, วิชาการ และวิจัย เพื่อให้มีการพัฒนาการดูแลสุขภาพของบุคคลกลุ่มนี้ให้มีมาตรฐานระดับสากล และเป็นที่ยอมรับของสังคม โดยยึดแนวทางการดูแลที่มีมาตลอดของคลินิกนี้ว่า “ครอบคลุม เข้าใจ ห่วงใย ไม่แบ่งแยก”
รศ.นพ.ธีระ วัชรปรีชานนท์ หัวหน้าฝ่ายสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ฝ่ายสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวช วิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ดำเนินงานด้านบริการรักษา การเรียนการสอน การวิจัย และพัฒนาการดูแลสุขภาพในทุกสาขาบริการมาอย่างต่อเนื่องทั้งยังเป็นต้นกำเนิดนวัตกรรมสำคัญแห่งแรกของประเทศหลายประการ อาทิ เป็นสถานพยาบาลแห่งแรกที่ประสบความสำเร็จในการผ่าตัดทำคลอดบุตรในปี พ.ศ.2460 ก่อตั้งหน่วยงานวางแผนครอบครัวแห่งแรกในปี พ.ศ.2507 การทำเด็กหลอดแก้วสำเร็จรายแรกของไทยและอาเซียนในปี พ.ศ.2530 การนำวิธีการผ่าตัดผ่านกล้องมาใช้ทางนรีเวช การก่อตั้งคลินิกวัยทองแห่งแรกของประเทศไทยในปี พ.ศ.2535 เป็นต้น
นอกจากนี้ด้วยความเชี่ยวชาญและความสามารถจากทีมแพทย์หลากหลายสหสาขา ผนวกกับประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงของสังคมและวัฒนธรรม และมีการยอมรับในเพศสภาพที่บุคคลนั้นพึงจะเป็นมากยิ่งขึ้น ทำให้มีเพศที่หลากหลายรวมเรียกด้วยคำย่อว่า LGBTQ ซึ่งการดูแลกลุ่มบุคคลเหล่านี้ยังมีข้อจำกัด ดังนั้นด้วยความพร้อมของบุคลากรทางการแพทย์ ฝ่ายสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จึงได้จัดตั้งคลินิกเฉพาะทางเพื่อดูแลบุคคลข้ามเพศแบบครบวงจรขึ้น มีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สหสาขาคอยให้คำปรึกษา ดูแลทั้งร่างกายและจิตใจ มีการพัฒนาแนวทางการดูแลรักษาทางกลุ่มนี้มาอย่างต่อเนื่อง
การจัดประชุมวิชาการ MIS.S.Transgender ขึ้นเป็นครั้งแรกระหว่างวันที่ 1-3 ธันวาคม 2564 นี้ เพื่อเป็นต้นแบบในการดูแลรักษา และมุ่งหวังให้แพทย์ผู้เกี่ยวข้องในการดูแลได้ มีความรู้ที่ถูกต้องและทันสมัย พร้อมที่จะให้การรักษาและดูแลสำหรับผู้รับบริการกลุ่มนี้ โดยการจัดประชุมวิชาการ ดังกล่าว จะทำให้ประชาชนและอีกหลายหน่วยงานได้ทราบถึงรายละเอียด ทำให้บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นที่ยอมรับในสังคม เป็นการจุดประกายการให้ความสำคัญต่อความเท่าเทียมของคนทุกเพศสภาพในประเทศไทยต่อไปในอนาคต พร้อมสนับสนุนทั้งด้านการบริการ การเรียนการสอน และการวิจัยเพื่อยกระดับการดูแลบุคคลกลุ่มนี้ให้ก้าวไกลสู่สากล
รศ.นพ.กระเษียร ปัญญาคำเลิศ หัวหน้าสาขาเวชศาสตร์ทางเพศและวัยหมดระดู ฝ่ายสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สังคมไทยเปิดกว้างและ ยอมรับเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้น ดังนั้นผู้ที่ต้องการคำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาเรื่องการเปลี่ยนหรือข้ามเพศ จึงมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่าในอดีตมาก ขณะเดียวกันปัญหาเรื่องเพศ ฮอร์โมนเพศ หรือการเปลี่ยนแปลงของวัยโดยเฉพาะในวัยเจริญพันธุ์ รวมทั้งวัยหมดระดูก็เป็นเรื่องพื้นฐานที่ประชาชนส่วนใหญ่ประสบมาโดยตลอด ด้วยเหตุนี้ สาขาเวชศาสตร์ทางเพศและวัยหมดระดู ฝ่ายสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้เล็งเห็นถึง ความสำคัญขององค์ความรู้ด้านนี้ จึงได้จัดตั้งคลินิกสุขภาพเพศ (Gender Health Clinic) ขึ้น เพื่อให้บริการแก่บุคคลข้ามเพศ ผู้มีปัญหาทางเพศทุกรูปแบบ คลินิกสุขภาพเพศนี้ได้มีการประสานการทำงานร่วมกันของทีมแพทย์สหสาขา และเปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อวันจันทร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2561 จากสถิติของผู้เข้ารับบริการในช่วงระยะเวลา 3 ปีกว่าที่ผ่านมา พบว่า มีผู้มารับบริการจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังได้รับการยอมรับให้เป็นคลินิกต้นแบบ ซึ่งสถาบันทางการแพทย์หลายแห่งได้ขอเข้าศึกษาดูงานเพื่อนำไปประยุกต์ให้เป็นคลินิกสุขภาพเพศครบวงจร เช่นเดียวกับที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ดำเนินการและสร้างมาตรฐานไว้ในปัจจุบัน
การบริการของคลินิกสุขภาพเพศโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ครอบคลุมทุกความต้องการที่หลากหลายของผู้เข้ารับบริการทุกเพศและทุกวัยอย่างแท้จริง นับตั้งแต่คลินิกศัลยกรรมเพื่อการข้ามเพศ คลินิกสุขภาพวัยรุ่น คลินิกคนข้ามเพศ พร้อมกันนี้มีบริการตรวจประเมินโดยจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแก่ผู้รับบริการที่ต้องการใช้ฮอร์โมนผ่าตัดเปลี่ยนเพศ ผู้ที่มีปัญหาทางเพศหรือปัญหาสุขภาพจิตอีกด้วย เรียกได้ว่าการจัดตั้งคลินิกสุขภาพเพศเป็นการให้โอกาสทางสังคมแก่กลุ่มคนข้ามเพศและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เพิ่มทางเลือกในการเข้ารับบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ เท่าเทียมและเหมาะสมเช่นเดียวกับประชาชนทุกคน ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อเข้ารับบริการได้ที่คลินิกสุขภาพเพศ ชั้น 7 อาคาร ภปร ทุกวันจันทร์เวลา 13.00 - 16.00 น

ไม่มีความคิดเห็น

รูปภาพธีมโดย mevans. ขับเคลื่อนโดย Blogger.